เวลาทุกคนใช้เว็บในการหาข้อมูล อ่านข่าวสาร หรือช็อปปิ้งออนไลน์ บางครั้งก็อาจจะเคยเจอว่าไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้และขึ้นข้อความแปลก ๆ เช่น "404 Not Found" หรือ "500 Internal Server Error" ซึ่งอาจทำให้รู้สึกงง ๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และต้องทำอย่างไรต่อไปใช่ไหมคะ ? ข้อความเหล่านั้นมีชื่อเรียกว่า HTTP Status Code ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ HTTP Status Code ที่เจอบ่อย ๆ พร้อมทั้งวิธีจัดการที่จะช่วยให้กลับมาใช้งานเว็บไซต์ได้อีกครั้งกันค่ะ HTTP Status Code คืออะไร ต้องเล่าก่อนว่าเวลาที่เราเข้าเว็บไซต์ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่การเปิดหน้าเว็บขึ้นมาเลยนะคะ เมื่อเราเข้าเว็บไซต์ ขั้นตอนจะเริ่มต้นจากการที่เรา "ส่งคำขอ" หรือที่เรียกว่า HTTP Request ไปยังเว็บไซต์ที่เราต้องการเข้า คำขอนี้จะถูกส่งไปยัง Server ของเว็บไซต์นั้น ๆ ว่า ให้เปิดหน้าเว็บที่เราต้องการ หลังจาก Server ประมวลผลคำขอแล้วก็จะส่งข้อมูลกลับมาหาเราในรูปแบบของ HTTP Response ถ้าไม่มีข้อผิดพลาดอะไร ก็จะแสดงผลออกมาเป็นหน้าเว็บที่เราต้องการ แต่ในบางครั้ง ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างการประมวลผล Server จะตอบกลับมาด้วย HTTP Status Code ที่เป็น Error Code ที่เราเห็นกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น 404 Not Found, 500 Internal Server Error ค่ะ พูดง่าย ๆ ก็คือ เวลาเราเข้าเว็บ เราจะมีการส่งคำขอไปถึง Server แล้ว Server ก็จะประมวลผลกลับมา ถ้าไม่มี Error ก็จะประมวลผลออกมาเป็นหน้าเว็บที่เราต้องการตามปกติ แต่ถ้ามีอะไรผิดพลาด Server ก็จะตอบกลับด้วย Error Code นั่นเองค่ะ Error Code ที่เจอบ่อย มีอะไรบ้าง ? 404 Not Found: เว็บไซต์ไม่มีอยู่บน Server "404 Not Found" เป็นรหัสที่ผู้ใช้เว็บไซต์เจอบ่อยที่สุด เชื่อว่าทุก ๆ คนที่อ่านบทความนี้เองต้องเคยเจอรหัสนี้เหมือนกันค่ะ รหัสนี้หมายถึงหน้าเว็บที่เราจะเข้าไม่มีอยู่บน Server ค่ะ บางครั้งอาจเกิดจากการพิมพ์ URL ผิด หรือเว็บไซต์นั้นอาจถูกลบไปแล้ว วิธีแก้ไข: ตรวจสอบ URL ให้ถูกต้อง ลองเข้าเว็บหลักของเว็บไซต์นั้นแล้วค้นหาหน้าเว็บที่ต้องการ หากเป็นเว็บไซต์ที่เคยเข้าได้ อาจต้องติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์เพื่อสอบถามเพิ่มเติม 500 Internal Server Error: ปัญหาภายใน Server รหัส "500 Internal Server Error" หมายถึงมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นที่ Server ของเว็บไซต์ ทำให้ไม่สามารถตอบสนองคำขอจากผู้ใช้งานได้ วิธีแก้ไข: ลองรีเฟรชหน้าเว็บหรือกลับมาลองใหม่ในภายหลัง หากผ่านไปนานแล้วยังไม่สามารถเข้าได้ อาจลองติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ค่ะ 403 Forbidden: การเข้าถึงถูกปฏิเสธ "403 Forbidden" หมายความว่า Server ได้รับคำขอแล้ว แต่ผู้ใช้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเนื้อหานั้น สาเหตุเนื่องจากเว็บไซต์อาจมีการจำกัดการเข้าถึงสำหรับผู้ใช้บางคนค่ะ วิธีแก้ไข: ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสิทธิ์เข้าถึงหน้าเว็บนั้น 502 Bad Gateway: ปัญหาการเชื่อมต่อระหว่าง Server รหัส "502 Bad Gateway" เกิดขึ้นเมื่อ Server ของเว็บไซต์ไม่สามารถเชื่อมต่อกับ Server อื่น ๆ ได้ เป็นปัญหาการเชื่อมต่อกันระหว่าง Server วิธีแก้ไข: ลองรีเฟรชหน้าเว็บ หรือกลับมาลองใหม่อีกครั้งภายหลัง หากปัญหายังอยู่ อาจต้องติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์หรือเจ้าของ Server 401 Unauthorized: ไม่สามารถยืนยันตัวตน รหัส "401 Unauthorized" หมายความว่าผู้ใช้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงหน้านั้น เนื่องจากยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบหรือป้อนข้อมูลการเข้าสู่ระบบไม่ถูกต้อง วิธีแก้ไข: ตรวจสอบว่าข้อมูลที่ใช้ในการเข้าสู่ระบบถูกต้อง สรุป การเข้าเว็บไซต์และเจอ HTTP Error Code เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ รหัสเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งที่บอกผู้ใช้ว่ามีปัญหาบางอย่างระหว่างการเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากตัวเว็บไซต์หรือจาก Server เมื่อเรารู้ความหมายของรหัสเหล่านี้แล้ว ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้นค่ะ ขอขอบคุณ ภาพปก Image by Mohamed Hassan from Pixabay ภาพประกอบ 1 Image by Mohamed Hassan from Pixabay ภาพประกอบ 2 Image by OpenClipart-Vectors from Pixabay ภาพประกอบ 3 Image by Gerd Altmann from Pixabay ภาพประกอบ 4 Image by StartupStockPhotos from Pixabay เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !