ภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นภูมิภาคขนาดใหญ่ ที่มีประชากรเป็นหนึ่งในสามของประเทศไทย เป็นภูมิภาคที่มีเนื้อที่มากที่สุด เทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 20 จังหวัด วันนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านทุกท่านไปชมแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสาน ที่ครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาคนี้ เพราะมีการทำวิจัย ลงพื้นที่ดำเนินการร่วมกับชุมชนในหลายโครงการ โดยเดินทางจากอำเภอเมืองมหาสารคาม สังเกตบริเวณหอนาฬิกา จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนนครสวรรค์ มุ่งหน้าเข้าสู่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ม.เก่า) เมื่อถึงบริเวณโรงพยาบาลสุทธาเวช ให้สังเกตด้านซ้ายมือจะถึงสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ซ้ายมือ)สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถาบันที่ดำเนินการเกี่ยวกับการค้นคว้าศิลปวัฒนธรรมอีสานในรูปแบบของการวิจัย และรวบรวมองค์ความรู้ที่ปรากฏในชุมชนมานำเสนอให้เป็นหน่วยงานด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและบริการวิชาการให้มีความโดดเด่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงการศึกษาด้านศิลปะ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธ์ุ และอีสานศึกษา สำหรับท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการ การนำเสนอข้อมูลและเข้าชมสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายความพิเศษของสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมภาคอีสานแล้ว ยังมีความงามด้านสถาปัตยกรรมที่สะท้อนภูมิปัญญาอีสานได้เป็นอย่างดี นั่นคือ อาคารของสถาบันวิจัยเป็นอาคารที่ออกแบบจากเล้าข้าว (ไทยอีสานประยุกต์) ออกแบบโดย รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร นักปราชญ์คนสำคัญของภาคอีสาน พร้อมทั้งบริเวณพื้นที่โดยรอบยังเป็นที่จัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานโดยสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ ในหลายด้านด้วยกัน เช่น ตัวอักษรโบราณอีสาน ความสำคัญของเกลือในภาคอีสาน ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ที่อยู่อาศัย ความสัมพันธ์ของคนกับพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับเอกสารใบลาน เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน พร้อมกับองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าทอของภาคอีสาน โดยอาคารสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน แบ่งออกเป็น 4 ชั้น โดยชั้นที่ 1 ชื่อว่าหอศิลป์จำปาศรี จัดแสดงผลงานด้านศิลปะหมุนเวียนกันไปตามโครงการต่าง ๆ ชั้นที่ 2 ห้องนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมอีสาน จัดนิทรรศการเกี่ยวกับเกลืออีสาน พื้นที่กับวิถีชีวิตชาวอีสาน ประวัติศาสตร์อีสาน ผู้คนในอีสาน ฮีตสิบสอง เรือนอีสาน และศาสนาพุทธในอีสานส่วนชั้นที่ 3 แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ห้องธรรมเจดีย์นิทรรศ และนิทรรศการผ้าทอในวิถีชีวิต ชั้นที่ 4 ห้องนิทรรศการศิลปินพื้นบ้านอีสาน โดยนำเสนอข้อมูลและเรื่องราวของศิลปินพื้นบ้านของภาคอีสานบริเวณห้องโถงชั้น 1 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน จะจัดนิทรรศกาล ธุงผะเหวดอีสาน : พุทธศิลป์แห่งพลังศรัทธา จากจังหวัดอุบลราชธานี 4 หมู่บ้าน คือ บ้านโพนทราย อำเภอเขื่องใน รวมถึงบ้านทุ่งเทิงและบ้านบัวเจริญ อำเภอเดชอุดม บ้านหนองบัวอารีย์ อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยใช้ “ทุง” บูรณาการการกับรายวิชาต่าง ๆ ผ่านเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งเลวร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็น ภูตผีวิญญาณต่างๆ ที่จะมารบกวนงานบุญนอกจากนี้สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังได้เป็นสถาบันที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับศิลปินพื้นบ้านภาคอีสาน จัดทำฐานข้อมูลในผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ โดยรางวัล นาคราช จะเป็นรางวัลที่ทางงสถาบันฯ มอบให้กับศิลปินเพื่อเป็นการยกย่องสำหรับผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมอีสานเห็นอย่างนี้ ไม่มาเข้าชมไม่ได้แล้ว สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แหล่งเรียนรู้ท่ะทำให้เราเข้าใจภาคอีสาน และคนอีสานได้ดียิ่งขึ้น เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ขับเคลื่อนฐานข้อมูลทางวิชาการของภาคอีสานให้ก้าวหน้า และพัฒนาต่อไป ผ่านแนวคิดของวิถีชีวิต ประเพณี ภูมิปัญญา วัฒนธรรมและศาสนา