รีเซต

'สุริยะ' โชว์ฟื้น ศก.-ลุย 6 ด้านธุรกิจ-อุตสาหกรรม เครื่องยนต์ศักยภาพใหม่ 'สิทธิกร' ดัน 3ดี อุ้มเอสเอ็มอี

'สุริยะ' โชว์ฟื้น ศก.-ลุย 6 ด้านธุรกิจ-อุตสาหกรรม เครื่องยนต์ศักยภาพใหม่ 'สิทธิกร' ดัน 3ดี อุ้มเอสเอ็มอี
มติชน
1 กุมภาพันธ์ 2565 ( 07:28 )
63
'สุริยะ' โชว์ฟื้น ศก.-ลุย 6 ด้านธุรกิจ-อุตสาหกรรม เครื่องยนต์ศักยภาพใหม่ 'สิทธิกร' ดัน 3ดี อุ้มเอสเอ็มอี

ข่าววันนี้ 1 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์มติชนได้จัดสัมมนารูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กในเครือมติชน ที่อาคาร บมจ.มติชน โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022 ตามด้วยการบรรยายพิเศษ ศักยภาพใหม่ เพื่อธุรกิจใหม่ โดย นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จากนั้นเป็นการเสวนาแวดวงธุรกิจชั้นแนวหน้า หัวข้อ ศักยภาพใหม่ประเทศไทย ได้แก่ นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea Thailand และ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ดำเนินรายการโดย น.ส.ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการอำนวยการและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน พร้อมผู้บริหาร ให้การต้อนรับและร่วมรับฟังงานสัมมนา

 

นายสุริยะกล่าวปาฐกถาพิเศษความตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมของโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจําเป็นต้องเร่งปรับตัวและแสวงหาโอกาสจากการปรับไปสู่รูปแบบชีวิตวิถีใหม หรือนิวนอร์มอล ภาครัฐจะทําหน้าที่สร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออํานวยต่อการพัฒนา เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จะบูรณาการการทํางานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาสําคัญ 6 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S Curve) ภายใต้มาตรการหรือแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับหมุดหมายการพัฒนาตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์

 

นายสุริยะกล่าวว่า 3.การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 โดยสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและดิจิทัล โดยดําเนินการเรื่อง Ease of Doing Business อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG 5.การจัดตั้งและสงเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับการพัฒนาในระดับพื้นที่ และ 6.การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการ เข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็ว บูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเพื่อจัดทําบิ๊กดาต้า เพิ่มทักษะ และประสิทธิภาพบุคลากรด้านดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ

 

นายสิทธิกรกล่าวบรรยายพิเศษว่า ศักยภาพใหม่ มี 4 มิติ มิติที่ 1 จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บสย.มีการประมาณการในฐานข้อมูลประมาณ 6 ล้านราย แบ่ง 3 ล้านรายในบัญชี และอีก 3 ล้านรายนอกบัญชี ซึ่งปีที่ผ่านมา บสย.ร่วมกับสถาบันการเงินช่วยเอสเอ็มอีในระบบเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 22.35% ส่วนอีกเกือบ 80% ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งจะทำให้เข้าถึงด้วย Digital Credit Accelcer ส่วนอีก 3 ล้านรายนอกบัญชี ซึ่งเรียกว่ากลุ่มไมโคร หรือรายย่อย อาทิ กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มมีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีปัญหาเรื่องหลักประกันการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน บสย.จึงคิดว่าควรสร้างศัยภาพใหม่ให้กับประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน เรียกว่า 3ดี (D) คือ 1.ดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) 2.ดิจิทัล เลนดิ้ง (Digital Lending) สร้างอีโคซิสเต็มของตัวเองให้บริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 3.ดิจิทัล เครดิต การันตี (Digital Guarantee) จะเป็นส่วนเติมเต็ม ทำให้กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินด้วยปัญหาเรื่องหลักประกันสามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น 3ดี จะเป็นตัวขับเคลื่อนศักยภาพใหม่ให้กับผู้ประกอบเอสเอ็มอี และช่วยเติมเต็มเรื่องสวัสดิการของรัฐที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง