เมื่อมาเยือนกรุงเก่าอย่างอยุธยาทั้งที จะไม่เข้าวัดเก่าก็กะไรอยู่ และวัดที่อยากมาก็เจอโดยบังเอิญใน Google Map ลองส่องดูในเว็บแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจดี มีซากประวัติศาสตร์ที่เก่าๆ สภาพเกือบร้าง วัดที่ว่านั้นคือ วัดวรเชต หรือ วัดวรเชษฐ์ เป็นวัดที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่กลับเป็นวัดที่มีประวัติน่าสนใจ เป็นวัดที่พระเอกาทศรถ พระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน และวัดวรเชษฐ์นี้ปรากฏว่ามีอยู่สองแห่งคือ วัดวรเชษฐาราม ที่อยู่ในเกาะเมืองอยุธยา กับวัดวรเชษฐ์ ที่อยู่นอกเกาะเมือง ที่สำคัญ ทั้งสองวัดนี้ ไม่วัดใดก็วัดหนึ่ง ที่เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ คงต้องมาดูกันจากสมมติฐานทางเอกสารและศิลปกรรม ว่าวัดไหนมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้มากที่สุดทริปนี้มีโอกาสมาสำรวจแค่ที่เดียว คือวัดวรเชษฐ์ นอกเกาะเมือง เริ่มกันที่พระปรางค์ประธานก่อน พระปรางค์องค์นี้ดูทรงแล้ว น่าจะได้อิทธิพลจากช่างเมืองเหนือ เพราะการสร้างมีลักษณะลดหลั่นจากฐานใหญ่ไปเป็นฐานเล็ก และอาจเป็นพระปรางค์ที่สร้างก่อนหรือร่วมสมัยกับวัดไชยวัฒนาราม เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 แน่นอน คำว่า พุทธศตวรรษที่ 22 คือช่วงเวลาเริ่มต้นจากกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชา / พระนเรศวร / พระเอกาทศรถ / พระเจ้าทรงธรรม และ พระเจ้าปราสาททอง เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 จึงมีความเป็นไปได้ว่า วัดนั้นอาจจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็เป็นได้ความเป็นไปได้สำหรับวัดนี้ สังเกตได้จากพระอุโบสถของวัด ปกติพระประธานจะหันหน้าไปทางด้านหน้าของวัด แต่ว่าฐานชุกชีของที่นี่มีพระพุทธรูปที่หันสี่ด้าน คือเป็นองค์พระที่หันหลังชนกันสี่พระองค์ ซึ่งคติการสร้างพระหันหลังชนกันแบบนี้พบมากในอาณาจักรมอญ ถือเป็นรูปแบบเฉพาะของบ้านเมืองมอญเลยก็ว่าได้ และถ้าจะโยงก็อาจอธิบายได้ว่า ในช่วงที่พระนเรศกวาดต้อนชาวมอญพม่ามานั้น ชาวมอญบางส่วนอาจเอาคติพระพุทธรูปหันหลังชนกันสี่องค์มาสร้างเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถแห่งนี้ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับพระพุทธรูปที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน ซึ่งมีองค์พระหันหลังชนกันสี่องค์ด้วยเช่นกันจากศิลปกรรมที่วัดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ พระพุทธรูปในพระอุโบสถ รวมถึงพระปรางค์ ล้วนแล้วแต่สะท้อนว่าเป็นงานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ทั้งสิ้นในส่วนของพระอุโบสถของวัดวรเชษฐ์ นอกเกาะเมืองนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระปรางค์ประธาน ลักษณะการสร้างโบสถ์เป็นการใช้อิฐสองประเภท แบ่งเป็นอิฐก้อนใหญ่ ความหนา 15 ซม. และอิฐก้อนเล็ก ความหนา 5 ซม. โดยใช้คู่กันในการก่ออิฐ การใช้อิฐก้อนใหญ่นั้นช่วยในเรื่องความคงทนถาวร ในอดีตอุโบสถแห่งนี้ใช้เป็นที่ประกอบกิจของสงฆ์ ในส่วนของผนังโบสถ์มีลักษณะสูงมาก เมื่อดูตามโครงสร้างแล้ว น่าจะเป็นโบสถ์หลังใหญ่อีกจุดหนึ่งที่น่าในใจภายในวัดแห่งนี้คือวิหาร ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของปรางค์ประธาน วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป มีความกว้างขนาดห้าห้อง มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกสองประตู ประตูด้านทิศตะวันตกสองประตู แต่ระหว่างช่องประตูมีหน้าต่างเจาะด้านละบาน ด้านทิศตะวันออกหนึ่งบาน ทิศใต้หนึ่งบาน ตะวันตกหนึ่งบาน และทิศเหนือหนึ่งบาน เพราะฉะนั้นวิหารหลังนี้อาจจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาในสมัยก่อนส่วนอีกวัด "วัดวรเชษฐาราม" ในเกาะเมืองอยุธยา จุดสังเกตอยู่ที่เจดีย์ประธานของวัด ถ้าดูเผินๆ เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา ฐานประทักษิณมีลักษณะเป็นบัวคว่ำบัวหงาย มีบันไดขึ้นไปได้ บ่งบอกว่าเป็นศิลปะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ด้วยเช่นกัน จะบอกว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถก็ถือว่าไม่ผิด และวัดนี้อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังด้วย เวลาสมเด็จพระเอกาทศรถคิดถึงพระเชษฐา ก็สามารถเสด็จจากวัง มาไหว้พระและระลึกถึงพระเชษฐาได้โดยสะดวกสรุปคือ จากสมมติฐานทางศิลปกรรม ทั้งสองวัดนี้มีโอกาสที่สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถด้วยกันทั้งคู่ มีความเป็นไปได้ที่วัดทั้งสองแห่งคือสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และไม่ว่าจะเป็นวัดใด เราก็ควรรักษาอนุรักษ์เอาไว้เป็นสมบัติของชาติกันต่อไป เพราะเราคนไทยมีทุกวันนี้ได้ก็เพราะรากฐานจากประวัติศาสตร์ที่สร้างชาติสร้างคนมาจนทุกวันนี้ปล. ทุกภาพในรีวิวนี้ถ่ายภาพโดย เอ๋จัง ลากแตะ (ผู้เขียน)