รมต.สหรัฐฯ เยือนอาเซียน กระชับสัมพันธ์นานาประเทศรวมไทย ผนึกกำลังคานอำนาจ “แดนมังกร”
สำนักข่าว SCMP รายงานเกี่ยวกับการเยือนประเทศในภูมิภาคอาเซียนของ “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตและต้านอิทธิพลของจีนไปพร้อม ๆ กัน
---สหรัฐฯ กระชับสัมพันธ์อาเซียน---
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เริ่มเยือนภูมิภาคอาเซียนเมื่อวันจันทร์ (13 ธันวาคม) ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เริ่มกระชับสัมพันธ์ทางการทูตในภูมิภาคที่มีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีน
ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า การเยือนทั้งสี่วันซึ่งครอบคลุมอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น หลังเกิดความกังวลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคอาเซียน
ผู้นำอเมริกามองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางทหาร ในพรมแดนการแข่งขันแห่งใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และอวกาศ อีกทั้งสหรัฐฯ ยังมีส่วนร่วมกับชาติพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน อย่างฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ด้วย
ขณะที่นักวิเคราะห์ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ และฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว พร้อมกันนั้น ยังเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของไบเดนไม่เดินเกมตามจีนมากเกินไป
---ท่าทีตอบรับในเชิงบวก---
บลิงเคนเยือนอินโดนีเซียเป็นชาติแรก ซึ่งมูฮามาด อาริฟ จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าวว่า เป็น “ท่าทีทางการทูตในเชิงบวก” เนื่องจากก่อนหน้านี้ ชาวอินโดนีเซียรู้สึกโดนมองข้าม หลังรัฐบาลของไบเดน ไม่ได้เลือกอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในจุดหมายระหว่างการเยือนเอเชียเมื่อไม่นานมานี้
“แผนการเดินทางของบลิงเคน แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ คำนึงถึงความเป็นศูนย์กลางของอินโดนีเซียในภูมิภาคนี้ ผมคิดว่า สหรัฐฯ ตระหนักเกี่ยวกับคุณค่าเชิงกลยุทธ์มากขึ้น หากร่วมมือกับอินโดนีเซีย” มูฮัมหมัด กล่าว
การเยือนภูมิภาคอาเซียนครั้งแรกของบลิงเคน ยังเป็นสัญลักษณ์ถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการแสวงหาความร่วมมือกับอาเซียน ซึ่งรวมถึงด้านการป้องกันประเทศด้วย
---เสริมกำลังด้านไซเบอร์-อวกาศ---
คริสติน วอร์มุธ รัฐมนตรีกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพสหรัฐฯ จำเป็นต้องขยายอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียน เสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์และขีดความสามารถด้านอวกาศ เพื่อเตรียมรับมือกับความขัดแย้งกับจีนที่อาจปะทุขึ้น
วอร์มุธ กล่าวในการบรรยายสรุป CSIS เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ ได้จัดพื้นที่และการฝึกทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์กับอินโดนีเซียและไทยแล้ว รวมถึงประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม สหรัฐฯ ได้เข้าร่วมการเจรจานโยบายไซเบอร์กับกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในหลายด้าน ตั้งแต่การต่อสู้กับอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการก่อการร้าย
---สงครามที่ต้องหาทีมเสริม---
คอลลิน โกะห์ นักวิจัยจาก RSIS ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสนับสนุนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ร่วมกับสหรัฐฯ
เขาตั้งข้อสังเกตว่า “โดเมนที่สร้างขึ้นใหม่และมีความอ่อนไหว” ส่วนใหญ่มักจะดึงดูดประเทศที่มีความสัมพันธ์ด้านการป้องกันและความมั่นคง ที่มีมาอย่างยาวนานร่วมกับสหรัฐฯ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
ในทางกลับกัน กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ มีแรงจูงใจน้อยกว่าประเทศข้างต้น ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการป้องกันและความมั่นคงกับสหรัฐฯ
“กัมพูชาและลาว อยู่ภายใต้อิทธิพลเชิงกลยุทธ์และเศรษฐกิจของจีน” เขากล่าว ซึ่งทั้งสองชาติให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านการพัฒนา และการรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งร่วมกับจีน
---ค้านอำนาจจีนในอาเซียน---
จีนต่อต้านการติดตั้งขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด และตัดการเข้าถึงตลาดของบริษัทเกาหลีใต้ทันที หลังเกาหลีใต้อนุญาตให้สหรัฐฯ ติดตั้งระบบขีปนาวุธ Terminal High Altitude Area Defense หรือ Thaad ในปี 2016 แม้เห็นได้ชัดว่า เป็นการต่อต้านเกาหลีเหนือ
วอร์มุธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า ขีปนาวุธระยะไกลของสหรัฐฯ จะยังคงประจำการในฐานทัพ, เรือ และเครื่องบินของสหรัฐฯ ขณะที่เพนตากอนและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กำลังเจรจากับบรรดาชาติพันธมิตร เพื่อขยายขอบเขตการติดตั้งเพิ่มเติม
คอลลิน โกะห์ จาก RSIS ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลี่ยงที่จะยืนหยัดข้างสหรัฐฯ อย่างโจ่งแจ้ง อาทิ การติดตั้งขีปนาวุธที่ละเอียดอ่อนอย่าง Thaad เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้จีนโกรธเคือง
“ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ต้องใส่ใจต่อความอ่อนไหวทางการเมืองในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดขอบเขตภารกิจด้านการป้องกันประเทศ” โกะห์ กล่าว
และว่า “การปล่อยให้ปัจจัย ‘ภัยคุกคามจากจีน’ เข้ามาแทนที่ข้อกังวลดังกล่าว ไม่อาจเป็นนโยบายที่ดีพอที่จะดึงดูดให้ชาติในอาเซียน สานต่อความร่วมมือทางการทหารที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้”
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters