หากใครสนใจเนื้อหาธรรมะมักจะเจอผู้เขียนบอกว่าให้ลองไปอ่านศึกษาจากพระไตรปิฎกด้วยตัวเองด้วย โดยสามารถพิมพ์ใน Google เพื่อเข้าไปอ่านฟรีจากเว็บไซต์ แต่พอลองอ่านดูก็กลับพบว่าตีความไม่ออก ยาก และไม่เข้าใจความหมายในการปรับใช้ในชีวิต วีระ ธีรภัทร ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เกิดจากบทความรวบรวมไว้เป็นหนังสือเล่ม จะมาบอกเล่าถึงประเด็นที่น่าสนใจจากพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้สาธยายขยายความทั้งพระไตรปิฎกนะครับ เพราะมันยืดเยื้อเกินกว่าจะเขียนถึงได้หมด ถึงกระนั้นประเด็นที่พูดถึงในเล่มก็น่าสนใจมากเลยทีเดียว ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์1.สิกขาบท (ศีล) ที่เริ่มบัญญัติกันในครั้งแรกนั้น ว่ากันว่าน่าจะเริ่มต้นในพรรษาที่ 20 ในสมัยพุทธกาล เริ่มต้นจาก 1 กลายเป็น 2 และ 3 ตามมา แล้วแต่กรณีที่เกิดเรื่องไม่เหมาะไม่ควรขึ้น จากนั้นก็ขยายมากขึ้นเพิ่มเติมตามลำดับ ท้ายที่สุดเอาเฉพาะสิกขาบทที่พระต้องมาสวดปาติโมกข์กันทุกกึ่งเดือนเพื่อย้ำเตือน ก็มากถึง 227 ข้อสำหรับภิกษุสงฆ์ 311 ข้อสำหรับภิกษุณีสงฆ์ 2.สังเวชนียสถาน 4 ตำบล เริ่มจากเมืองคยา (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าซึ่งตั้งอยู่ในรัฐพิหารของอินเดียในปัจจุบัน 3.กรรมฐาน (กัมมัฏฐาน) แปลได้หลายความหมาย ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ = อารมณ์กรรมฐาน หรือ ที่ตั้งแห่งการงาน หรือ วิธีฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา แล้วแตกออกเป็น 2 สาย คือ สมถะกรรมฐาน เน้นไปที่ทำให้จิตสงบ (สมาธิ ฌาน อภิญญา สมาบัติ) กับ วิปัสสนากรรมฐาน เน้นไปที่เรื่องปัญญาทำให้เกิดความรู้แจ้งความเป็นจริงของชีวิต (ญาณ วิชชา วิมุตติ) ส่วนอานาปานสติ เป็นหนึ่งในกรรมฐานหรือเรียกว่า อารมณ์กรรมฐาน หรือสิ่งที่จะนำมาใช้เป็นอารมณ์เพื่อทำกรรมฐานนั่นเอง 4.คัมภีร์วิสุทธิมรรค มุ่งเน้นในการรักษาเนื้อหาสาระของศาสนาเท่าที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด ส่วนหนังสือพุทธธรรม เป็นความพยายามในยุคปัจจุบันที่จะทำให้คนเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ด้วยการยกพุทธพจน์มาแสดงเป็นระยะๆ รวมถึงสิ่งที่เขียนไว้ในคัมภีร์อรรถกถา ฎีกาที่กระจัดกระจายด้วย ใช้วิธีการเรียบเรียงเป็นหมวดหมู่เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจได้อย่างเป็นระบบ 5.คาถาที่ปรากฏตอนเริ่มต้นของคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นข้อความที่เทวดาไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า : หมู่สัตว์ รกชัฏทั้งภายใน รกชัฏทั้งภายนอก รุงรังไปด้วยรกชัฏ ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงขอกราบทูลพระองค์ ใครจะพึงถางรกชัฏอันนี้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า นรชนผู้มีปัญญา เป็นภิกษุ มีความเพียร มีปัญญา เครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีล แล้วทำจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจึงถางรกชัฏอันนี้ได้พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านพิจารณาแล้วว่าคาถานี้ประกอบด้วยหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเรียบเรียงเรื่องดังกล่าวตามนัยที่มีในพระไตรปิฎก และตั้งชื่อว่าวิสุทธิมรรค อันหมายถึง หนทางแห่งความบริสุทธิ์ (นั่นคือพระนิพพาน) นั่นเอง 6.หากพระวินัยปิฎกเรียกหัวข้อหลักในแต่ละเรื่องว่า กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎกเรียกว่า สูตร ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคจะเรียกว่า นิเทศ โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 23 หัวข้อ หรือ 23 นิเทศ แต่ละนิเทศก็จะบอกว่าเป็นเรื่องอะไร เราสนใจเรื่องไหนก็ไปอ่านเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะเจาะจง หรือจะอ่านแบบต่อเนื่องไปตามลำดับก็ได้ คัมภีร์วิสุทธิมรรค เล่ม 1 หรือภาคแรก แยกหัวข้อเป็น 11 นิเทศ ส่วนเล่ม 2 หรือภาคหลังแยกเป็น 12 นิเทศ 7.คนที่สนใจปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ เจริญสมถะ เจริญจิตตภาวนา คัมภีร์วิสุทธิมรรคจะมีประโยชน์มากในแง่ทฤษฎีที่บอกถึงแนวทางในการปฏิบัติ ตั้งแต่กัมมัฏฐานคหณนิเทศที่ว่าด้วยปฏิบัติเบื้องต้นก่อนจะลงมือปฏิบัติกรรมฐาน 8.ส่วนที่เป็นการเจริญสมถะหรือสมาธิ พระท่านให้กรรมฐาน คืออารมณ์ที่จะเอาไปพิจารณาเพื่อให้เกิดสมาธิ มี 40 อย่างด้วยกัน เรียกว่า กรรมฐาน 40 ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคไล่ตั้งแต่ ปฐวีกสิณนิเทศไปจนถึงสมาธินิเทศรวม 8 หัวข้อ (8 บท) เป็นการอธิบายรายละเอียดของกรรมฐาน 40 แต่เวลาเอาไปใช้จริงก็เลือกกรรมฐานเพียงแค่อันเดียวเท่านั้น ที่นิยมกันในปัจจุบันก็ใช้ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นสำคัญ 9.เหตุการณ์ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ของพระพุทธเจ้านั้นพูดถึง ปฏิจจสมุปปบาท เป็นลำดับแรก หมายความว่าพระพุทธเจ้าค้นพบที่มาแห่งทุกข์ว่าเป็นกระบวนการที่อาศัยเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่อง เริ่มจากอวิชชา เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสังขาร จากนั้นก็ไล่เรียงกันไปตามลำดับก่อนจะสรุปสุดท้ายว่าเป็นปัจจัยให้เกิด ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส พูดง่ายๆคือไล่เรียงว่า ทุกข์ทั้งมวลเกิดขึ้น การเกิดจึงมีขึ้น พร้อมกันนั้นก็ไล่ย้อนกลับว่าถ้าหากจะทำให้ทุกข์หมดไปก็ต้องเริ่มที่การทำให้อวิชชาหมดไป แล้วกระบวนการเกิดดับก็จะย้อนกลับไปตามลำดับ 10.ธรรมอันประเสริฐสุด หมายถึงพระนิพพานนั่นเอง ส่วนวิชชา 3 จะเรียกว่าเป็นสุดยอดของการปฏิบัติธรรมจนเกิดเป็นญาณหรือความรู้พิเศษ 3 ประการ นั่นคือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นปัญญาหยั่งรู้สามารถระลึกชาติได้ จุตูปปาตญาณ เป็นปัญญาหยั่งรู้การเกิดดับของสัตว์ทั้งหลาย และอาสวักขยญาณ เป็นปัญญาหยั่งรู้ที่ทำให้อาสวะหมดไป อาสวะนี้จัดเป็นกิเลสที่หมักหมมดองลึกในสันดาน ต้องใช้ปัญญาหยั่งรู้หรือญาณพิเศษที่ว่าถึงจะกำจัดได้หมดสิ้นและจบลงด้วยการบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด 11.หลักมหาปเทส 4 เป็นหลักในการสอบทานเวลาใครมาอ้างว่าพระพุทธองค์สอนอย่างนั้นอย่างนี้ว่าถูกต้องหรือไม่นั้น เทียบเคียงแบบเข้าใจง่ายคือสิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร ขัดต่อสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรสิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร ขัดต่อสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรสิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร ขัดต่อสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรสิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร ขัดต่อสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรอ่านครั้งแรกแล้วงง ไม่แปลกครับ แต่ทวนซ้ำช้าๆแล้วคิดตามไปด้วยจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้นเองครับ ถึงจะไม่ได้ขยายความพระไตรปิฎกทั้งหมดก็จริง มีบางส่วนที่ผู้แต่งหนังสืออยากให้ไปศึกษาหาอ่านเอาเองก็จริง แต่ก็ช่วยให้ครีเอเตอร์เข้าใจธรรมะมากขึ้น ได้เห็นถึงมุมมองของชีวิตในสังคมสมัยพุทธกาลก็มีความคดโกงจนต้องตั้งกฎขึ้นมามากมายภายหลัง ได้เห็นประเด็นสนทนาทางธรรมแล้วมีนิยามเพิ่มความเข้าใจด้วย ทำให้ครีเอเตอร์ได้ศึกษาในบางส่วนของพระไตรปิฎกไปในตัว แม้ครีเอเตอร์ยังไม่มีอินทรีย์ทีากล้าแข็ง ไม่สามารถอ่านพระไตรปิฎกแล้วตีความหมายเองอย่างกระจ่างแจ้งได้ แต่นั่นเป็นสิ่งครีเอเตอร์ยังคงต้องสะสมประสบการณ์ต่อไป รวมทั้งดำรงตนให้อยู่ในทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้เกิดปัญญาในการเข้าใจนามธรรมทางพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการไปถึงมรรคผลนิพพานในอนาคต เครดิตภาพภาพปก โดย rawpixel.com จาก freepik.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียนภาพที่ 3 โดย vecstock จาก freepik.comภาพที่ 4 โดย freepik จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจรีวิวหนังสือ บันไดสู่นิพพานรีวิวหนังสือ อัจฉริยะ 100 หน้า พระพุทธศาสนารีวิวหนังสือ บรรลุธรรมได้ ไม่ติดรูปแบบรีวิวหนังสือ ตำนานพระพุทธเจ้ารีวิวหนังสือ ถ้ารู้...(กู)...ไม่ทำ โดย ณัฐพบธรรมเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !