รีเซต

‘อนุทิน’ เป็นตัวแทนรัฐบาล แสดงความยินดีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล

‘อนุทิน’ เป็นตัวแทนรัฐบาล แสดงความยินดีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล
มติชน
28 มกราคม 2565 ( 17:25 )
46

เมื่อวันที่ 28 มกราคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันนี้ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล(Prince Mahidol Award)  ประจำปี 2563  และประจำปี 2564 ประกอบด้วย ศ.ดร. นพ. วาเลนติน ฟูสเตอร์  นพ.เบอนาร์ด พีคูล ศ.ดร.กอตอลิน กอริโก ศ.ดร.นพ.ดรู ไวส์แมน และ ศ.ดร. ปีเตอร์ คัลลิส  เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ตึกภักดีบดินทร์  ทำเนียบรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ระหว่างการเข้าพบ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนขอกล่าวในนามของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย แสดงความยินดีและชื่นชมต่อการอุทิศตนของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทุกท่านในการช่วยเหลือผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลกด้วยผลงานการศึกษาวิจัยที่สร้างคุณูปการสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ วงการแพทย์และสาธารณสุขโลกรวมทั้งประเทศไทย พร้อมกันนี้นายอนุทิน ได้หารือกับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลในประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศไทยด้วย

 

โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเห็นพ้องว่า ประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เช่น เรื่องโรคเอดส์ โรคไข้เลือดออก การวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้นแบบ “ChulaCoV19” โดยอยากให้ไทยเข้ามามีบทบาทนำในด้านนี้ พร้อมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ตลอดจนวัคซีน และสามารถเป็นศูนย์กลางให้กับอาเซียนต่อไปได้รวมทั้งเสนอแนะให้ไทยนำองค์ความรู้ของผลการวิจัยต่างๆ ที่ค้นพบ และแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกับประเทศอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ ต่อยอดเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ทั้งนี้ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ปี 2563 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.ดร.นพ.วาเลนติน ฟูสเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีผลงานการวิจัยด้านเกล็ดเลือดในกระบวนการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโรคหัวใจนั้นถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมาโดยตลอด โดยองค์ความรู้จากงานวิจัยของ ดร.ฟูสเตอร์ จะมีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มและเสริมศักยภาพทางการแพทย์ของไทยและของโลกต่อไป

ทางด้าน นพ.เบอนาร์ด พีคูล จากฝรั่งเศส ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลปี 2563 ในสาขาสาธารณสุข ถือเป็นผู้อุทิศตนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคที่ถูกละเลย อาทิ โรคมาลาเรียซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำหรับประเทศกำลังพัฒนา  โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำงานเป็นเครือข่ายให้ความรู้และเฝ้าระวังทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดไข้มาลาเรียเป็นศูนย์ (Zero Malaria)

ทางด้านผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ปี 2564 ประกอบด้วย ศ.ดร.กอตอลิน กอริโก  จากสหรัฐอเมริกาและฮังการี, ศ.ดร.นพ.ดรู ไวส์แมน จากสหรัฐอเมริกา และ ศ.ดร.ปีเตอร์ คัลลิส จากแคนาดา ซึ่งทั้ง 3 ท่าน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ (mRNA) มาใช้ในทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ในการป้องกันหรือรักษาโรค และเป็นรากฐานสำคัญในการนำเทคโนโลยี mRNA มาใช้ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง