รีเซต

สิ้นศิลปินแห่งชาติ ‘อิ่ม จิตต์ภักดี’ เจ้าของตำนาน ‘หนังอิ่มเท่ง’ ในวัย 99 ปี

สิ้นศิลปินแห่งชาติ ‘อิ่ม จิตต์ภักดี’ เจ้าของตำนาน ‘หนังอิ่มเท่ง’ ในวัย 99 ปี
ข่าวสด
25 พฤษภาคม 2563 ( 13:27 )
272
สิ้นศิลปินแห่งชาติ ‘อิ่ม จิตต์ภักดี’ เจ้าของตำนาน ‘หนังอิ่มเท่ง’ ในวัย 99 ปี

 

สิ้น ‘อิ่ม จิตต์ภักดี’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี 2540 เจ้าของตำนาน ‘หนังอิ่มเท่ง’ เสียชีวิตด้วยโรคชรา ในวัย 99 ปี

 

 

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายอิ่ม จิตต์ภักดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พ.ศ.2540 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 พ.ค. เวลาประมาณ 11.14 น. ณ บ้านพักที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากโรคชรา สิริรวมอายุ 99 ปี

 

โดยทางญาติแจ้งว่าดำเนินการขอพระราชน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 24 พ.ค. เวลา 17.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพวันที่ 24-26 พ.ค. เวลา 19.00 น. ณ วัดไทรใหญ่ ต.ควนรู อ.ควนเนียง จ.สงขลา และเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล โดยสวธ. จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป

 

 

อธิบดีสวธ. กล่าวต่อว่า นอกจากจะดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จะขอพระราชทานเพลิงศพแล้ว ยังให้การช่วยเหลือด้านต่างๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิต เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ

 

 

สำหรับประวัติของนายอิ่ม จิตต์ภักดี หรือเป็นที่รู้จักกันดีชื่อ “หนังอิ่มเท่ง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พ.ศ.2540 เกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2464 เป็นผู้มีความสนใจการแสดงหนังตะลุงตั้งแต่เด็ก เริ่มแสดงหนังตะลุงแบบครูพักลักจำ ไม่มีใครสอนให้โดยตรง มีความศรัทธาในการแสดงหนังตะลุง จึงสมัครเป็นศิษย์หนังหม้ง แห่งบ้านชะรัด จังหวัดพัทลุง

 

 

ซึ่งหนังหม้งได้ถ่ายทอด วิชาความรู้เกี่ยวกับการเล่นหนังตะลุง และพาขึ้นโรงและครอบครู ทำให้นายอิ่มมานะฝึกฝนการแสดงมากยิ่งขึ้น ความมีปฏิภาณไหวพริบด้านการแสดงที่จับใจผู้ชมในการด้นกลอนสด ที่พลิกแพลงสอดคล้องกับเหตุการณ์ทำให้คณะหนังตะลุง ที่มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบทตลกที่มี “เท่ง” เป็นตัวเอกนั้น แสดงได้ถูกใจประชาชน จนได้รับฉายาต่อท้ายชื่อ “หนังอิ่มเท่ง” มาจนปัจจุบัน

 

นายอิ่ม มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ พ.ศ.2496 รับงานแสดงทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นคณะหนังตะลุงที่ยังคงรักษาแบบฉบับหนังตะลุงรุ่นเก่าไว้เป็นอย่างดี การแสดงทุกเรื่องจะสอดแทรกคติธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกผิดชอบชั่วดีแก่ประชาชน และยังเข้าแข่งขันประชันหนังตะลุงประมาณ 1,000 กว่าครั้ง จนได้รับรางวัลกลองทองคำ เสื้อสามารถ ถ้วยเกียรติยศ และขันน้ำพานรอง ฯลฯ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พ.ศ.2540

 

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง