รีเซต

ธปท. ชูธงฟินเทค เร่งปรับตัวเศรษฐกิจภาคการเงินไทย เดินแผน ‘3เปิด’ พร้อมสกัดภัยไซเบอร์

ธปท. ชูธงฟินเทค เร่งปรับตัวเศรษฐกิจภาคการเงินไทย เดินแผน ‘3เปิด’ พร้อมสกัดภัยไซเบอร์
ข่าวสด
18 ตุลาคม 2564 ( 14:40 )
29
ธปท. ชูธงฟินเทค เร่งปรับตัวเศรษฐกิจภาคการเงินไทย เดินแผน ‘3เปิด’ พร้อมสกัดภัยไซเบอร์

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน Bangkok FinTech Fair 2021: Shaping Digital Finance in the New Decade ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเร็วและแรง โดยเฉพาะการปรับตัวของภาคการเงินในทศวรรษนี้ ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ อย่างน้อย 2 ด้าน

 

คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางการเงินอย่างกว้างขวาง และการเพิ่มขึ้นของบทบาทของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบที่เป็น non-bank เดี่ยวหรือ non-bank ร่วมมือกับธนาคาร

 

ดังนั้น ธปท. จึงจำเป็นต้องปรับ และดำเนินการเพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากโอกาสที่มากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยการเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำกับดูแล และรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินที่จะคำนึงถึงต้นทุนจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ

 

นอกจากนี้ ธปท. จะดำเนินการใน 3 แนวทางสำหรับสร้างภูมิทัศน์ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป หรือที่เรียกกันภายในว่า 3 Open ได้แก่ 1. Open, shared and interoperable infrastructure ได้แก่ การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิตอลที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม โดยต้องเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่สามารถเข้ามาต่อยอดบริการทางการเงินได้ และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

2. Open environment หรือ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเท่าเทียมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมจากผู้เล่นทุกประเภท โดยจะปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อทั้งการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิมและการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ และ 3. Open data คือ การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

 

“ธปท. หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งด้านภัยไซเบอร์และการหลอกลวงที่ทวีจำนวนและความหลากหลายของรูปแบบมากขึ้น ธปท. จึงยังคงให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถให้การป้องกันและรับมือกับภัยไซเบอร์ของผู้ประกอบการทางการเงินอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ใช้บริการในการระวังป้องกันตัวเอง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง