โควิด-19: เมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลก 5 แห่ง หลังการระบาดใหญ่
เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกต้องกลับมาพิจารณาเรื่องความปลอดภัยใหม่ หลังจากเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นี่คือเมือง 5 แห่งที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุด
ไม่มีเหตุการณ์ไหนในยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนในเมืองได้มากเหมือนกับโควิด ตั้งแต่การปิดสำนักงานที่อยู่ใจกลางเมืองไปจนถึงการออกกฎบังคับสวมหน้ากากและข้อจำกัดของร้านอาหารต่าง ๆ มาตรการป้องกันการระบาดของโควิดได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก และน่าจะส่งผลต่อไปในระยะยาว
ความจริงแล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่มีการระบาดใหญ่ขนาดนี้เกิดขึ้นกับผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมือง กองประชากรแห่งสหประชาชาติ (UN Population Division) ระบุว่า ตอนที่เกิดไข้หวัดสเปนระบาดในต้นยุคทศรรษ 1900 มีคนอาศัยอยู่ในเมืองเพียง 14% แต่ปัจจุบันนี้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 57% แล้ว
ส่งผลให้เมืองต่าง ๆ ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในด้านของการคุ้มครองสุขภาพ และความปลอดภัยโดยรวมเพื่อให้การปกป้องประชากรในเมืองได้อย่างดีขึ้น เพื่อเป็นการอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น
อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit—EIU) ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจของนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ได้เผยแพร่ดัชนีเมืองปลอดภัย (Safe Cities Index) ประจำปี 2021 เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งได้จัดอันดับเมือง 60 แห่งโดยใช้ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัย 76 ตัวครอบคุลมด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ชีวิตดิจิทัล, ความปลอดภัยส่วนบุคคล, ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และแน่นอนเรื่องสุขภาพ ทั้งในด้านการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่และอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในปีนี้
เมืองที่รั้งอันดับสูงสุดในดัชนีนี้รวมถึง โคเปนเฮเกน, โทรอนโต, สิงคโปร์, ซิดนีย์ และโตเกียว เมืองทั้ง 5 แห่งนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าความปลอดภัยโดยรวมเกี่ยวข้องอย่างไรกับการร่วมมือกันของคนในสังคม ความหลากหลายของกลุ่มประชากร และความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในสังคม
เราได้พูดคุยกับผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้ เพื่อดูว่าการระบาดใหญ่ทำให้เมืองของพวกเขาปลอดภัย, เปิดกว้าง และแข็งแกร่งมากขึ้นได้อย่างไร นักท่องเที่ยวต้องรู้อะไรบ้างเพื่อที่จะพักอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย เมื่อสามารถเดินทางไปเยือนเมืองเหล่านี้ได้
โคเปนเฮเกน
ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในดัชนีนี้ เมืองหลวงของเดนมาร์กมีอันดับดีโดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ของดัชนีนี้ ซึ่งได้วัดเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืน (รวมถึงแรงจูงใจในการใช้พลังงานหมุนเวียน), คุณภาพอากาศ, การจัดการขยะ และพื้นที่ป่าในเมือง โดยข้อหลังสุดได้ส่งผลอย่างมากต่อความสามารถในการรับมือกับมาตรการจำกัดการระบาดใหญ่ของเมืองและคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเพิ่งมีการยกเลิกมาตรการทุกอย่างไปในเดือน ก.ย. 2021
แอสบ์จวร์น โอเวอร์กอด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Copenhagen Capacity ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรกล่าวว่า "อุทยานและพื้นที่สีเขียวรวมถึงบริเวณแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากในช่วงการระบาดใหญ่ ชาวกรุงโคเปนเฮเกนออกไปเดินเล่น ซื้ออาหารใส่ห่อ และสนุกกับพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจหลายแห่งในเมือง"
กรุงโคเปนเฮเกนยังออก "ข้อแนะนำเกี่ยวกับโคโรนา" เพื่อช่วยเหลือผู้คน รวมถึงการมีป้ายสัญญาณและการทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจนเพื่อเว้นระยะระหว่างกลุ่มคนที่อยู่นอกบ้าน
ภาษาเดนมาร์กคำว่า samfundssind ได้สรุปถึงจิตวิญญาณทางสังคมของเดนมาร์กไว้ได้อย่างดีที่สุด ซึ่งเรื่องนี้เองที่ทำให้พลเมืองของประเทศรวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการได้ร่วมไม้ร่วมมือกันและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ในการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ที่ปลอดภัยขึ้น
ดัชนีเมืองปลอดภัยพบความเกี่ยวข้องกันอย่างมากระหว่างการควบคุมการทุจริตและเมืองที่มีความปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การจัดอันดับเดนมาร์กให้เป็นประเทศที่ทุจริตน้อยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ทำให้พลเมืองของเดนมาร์กไว้วางใจสถาบันต่าง ๆ และไว้วางใจกันตลอดช่วงการระบาดใหญ่
โคเปนเฮเกนยังมีการใช้โครงการตรวจหาโควิดขนานใหญ่ด้วย ซึ่งขณะนี้ก็ยังคงไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับทุกคนรวมถึงนักท่องเที่ยว ข้อมูลที่รวบรวมได้ทำให้สามารถสังเกตการณ์การระบาดได้อย่างละเอียด นอกจากนี้ โคเปนเฮเกนจะมีการตรวจสอบน้ำเสียเพื่อตรวจหาการระบาดแต่เนิ่นด้วย
โทรอนโต
เมืองที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดา รั้งอับดับสองในดัชนีเมืองปลอดภัยโดยรวม โดยทำคะแนนได้ดีในด้านโครงสร้างพื้นฐานและความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม ชาวเมืองเชื่อมั่นในด้านวัฒนธรรมการเปิดกว้างที่ให้คุณค่าในด้านการสื่อสารระหว่างชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะการตระหนักถึงความสำคัญของวัคซีนและการเข้ารับวัคซีน
ฟาริดา ทาลาต ชาวเมืองโทรอนโต ได้ชี้ว่า การตั้งโครงการให้วัคซีนเฉพาะชุมชนขึ้นมา มีส่วนช่วยให้เมืองนี้ปลอดภัยขึ้นได้อย่างไร ยกตัวอย่างแผนการเร่งให้วัคซีนตามบ้าน (Homebound Sprint Vaccination) ได้ให้วัคซีนโดสแรกแก่ชาวเมืองที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ และการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจนักวิทยาศาสตร์ผิวดำศึกษาเรื่องความเท่าเทียมของวัคซีน (Black Scientists' Task Force on Vaccine Equity) ในช่วงการเริ่มให้วัคซีนช่วงแรก เพื่อให้มั่นใจว่า แนวทางในการให้วัคซีนแก่ประชากรมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
ประชากรในเมืองยังรู้สึกปลอดภัยจากการที่นครโทรอนโตมีประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมที่หลากหลายมาเป็นเวลายาวนาน
"ในโทรอนโต เป็นเรื่องปกติที่คนจะเกิดนอกประเทศแคนาดา ผมพบคนต่างเชื้อชาติ และคนจากกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กันจริง ๆ ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างปิดกั้นตัวเอง" ฟิลิเป เวร์นาซา ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองนี้มาตั้งแต่ปี 1998 กล่าว
"โดยคนกลุ่มหนึ่งมักจะประกอบด้วยผู้คนที่มีหลากหลายเชื้อชาติ รสนิยมทางเพศ และศาสนา โทรอนโตเป็นเมืองที่เปิดกว้างอย่างมาก ซึ่งคุณสามารถรู้สึกปลอดภัยในสิ่งที่คุณเป็นได้"
สิงคโปร์
สิงคโปร์รั้งอันดับสองในด้านความปลอดภัยดิจิทัล ความปลอดภัยด้านสุขภาพ และความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน สิงคโปร์ใช้จุดแข็งในด้านเหล่านี้ในการเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มแรกของการระบาดใหญ่
โดยมีการออกโครงการสังเกตการณ์ทางดิจิทัลและการแกะรอยการสัมผัสกับผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว สิงคโปร์ยังระบุว่า ตัวเองมีอัตราการให้วัคซีนแก่ประชากรสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก (ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80%) แต่ยังจำเป็นต้องมีการจับตามองอย่างเข้มงวดและการแกะรอยการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อต่อไปในช่วงที่เผชิญกับเชื้อกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ
"ก่อนที่พวกเขาจะสามารถเข้าไปภายในอาคารหรือบริเวณต่าง ๆ ได้ ชาวเมืองทุกคนจำเป็นต้องสแกนเทรซ ทูเกตเตอร์ โทเคน (Trace Together Tokens) หรือแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์ เพื่อเช็กอิน" แซม ลี ชาวเมืองสิงคโปร์ ซึ่งทำบล็อกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่งกล่าว "การทำเช่นนี้ทำให้ [เจ้าหน้าที่ทางการ] แกะรอยบุคคลที่อาจจะสุงสิงหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้มีการสั่งให้กักตัวเพื่อควบคุมหรือหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส"
นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องติดตั้งเทรซ ทูเกตเตอร์ โทเคน (Trace Together Tokens) หรือเช่าโทรศัพท์ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์นี้ไว้ ก่อนที่จะเข้าประเทศ
การทำงานจากบ้านได้กลายเป็นมาตรฐานของสถานที่ทำงานส่วนใหญ่เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งลีได้สังเกตเห็นว่า มีการใช้บริการขนส่งสาธารณะลดลง สถานที่ท่องเที่ยวและศูนย์การค้าต่าง ๆ จำกัดจำนวนคนเข้า และ "ทูตเว้นระยะที่ปลอดภัย" (Safe Distancing Ambassadors) ได้จับตามองกลุ่มคนต่าง ๆ เพื่อทำให้มั่นใจว่า ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งด้านสาธารณสุข คนที่ละเมิดคำสั่งอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก ประชาชนยังสามารถแกะรอยศูนย์การค้า ไปรษณีย์ และร้านขายของชำต่าง ๆ ว่า มีกลุ่มคนมากแค่ไหน ด้วยเครื่องมือที่ออกมาใหม่ที่ชื่อว่า สเปซ เอาต์ (Space Out)
ซิดนีย์
เมืองที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียรั้งอันดับที่ 4 ในด้านดัชนีรวม และติดอยู่ใน 10 อันดับแรกในด้านความปลอดภัยสุขภาพ
ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ปิดพรมแดนของตัวเองในช่วงการระบาดใหญ่และได้บังคับใช้การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
อัตราการเสียชีวิตจากโควิดต่อหัวประชากรของออสเตรเลียยังคงอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก ขณะที่มีการให้วัคซีนแก่ประชากรแล้ว 70% ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ คาดว่า จะมีการยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ หลายข้อและจะเปิดพรมแดนระหว่างประเทศในเดือน พ.ย. นี้
นอกจากจะรู้สึกว่าได้รับการปกป้องในช่วงการระบาดใหญ่ ชาวเมืองในนครซิดนีย์รู้สึกถึงความปลอดภัยส่วนบุคคลตามท้องถนนต่าง ๆ มานานแล้ว "ฉันไม่เคยรู้สึกปลอดภัยจริง ๆ ในประเทศ อย่างที่ฉันรู้สึกเมื่อใช้ชีวิตในซิดนีย์" โคลอี สกอร์จี ผู้ก่อตั้ง พาสปอร์ต ดาวน์ อันเดอร์ (Passport Down Under) เว็บไซต์ท่องเที่ยวของออสเตรเลีย ซึ่งย้ายมาอยู่นครซิดนีย์ในปี 2018 กล่าว
"ฉันเดินทางไปทั่วซิดนีย์ในฐานะนักเดินทางหญิงเดี่ยว และไม่เคยรู้สึกว่า มีอันตรายใด ๆ เลย"
นครซิดนีย์ ยังรั้งอันดับหนึ่งในด้านความปลอดภัยดิจิทัล ซึ่งรวมถึงนโยบายความเป็นส่วนตัวของนครซิดนีย์ การปกป้องและภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และแผนเมืองอัจฉริยะโดยรวม ความพยายามดำเนินการด้านนี้ของนครซิดนีย์ส่วนหนึ่งมาจากกรอบการทำงานยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะของซิดนีย์ด้วย ซึ่งได้นำนวัตกรรมบางอย่างมาใช้งาน เพื่อให้เมืองมีความปลอดภัยมากขึ้นและเชื่อมต่อกันมากขึ้น
ยกตัวอย่าง แผนการนี้ได้ระบุเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับอัจริยะไว้ในถังขยะ เสาไฟฟ้าตามริมถนน และม้านั่งเพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานโดยรวม การเดินทางของผู้คน กิจกรรมคนเดินถนน นอกจากนี้ ไฟอัจฉริยะและเครือข่ายกล้องวงจรปิดสามารถทำให้ความปลอดภัยในช่วงหลังฟ้ามืดเพิ่มขึ้นได้ และทำให้เศรษฐกิจในช่วงค่ำคืนดีขึ้นด้วย
แนวคิดเหล่านี้บางอย่างได้เริ่มมีการนำไปใช้งานแล้วในบริเวณทางใต้ของนครซิดนีย์ในรูปแบบของศูนย์ชิลล์เอาต์ (ChillOUT) ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งที่ชาวเมืองสามารถมาพบปะกันท่ามกลางแสงไฟอัจฉริยะ เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย และมีปลั๊กไฟให้เสียบใช้บริการ โดยข้อมูลการใช้งานจะถูกส่งกลับไปยังผู้บริหารของเมืองเพื่อที่จะได้เข้าใจถึงสถานการณ์และปรับตัวให้สอดคล้องกับวิธีการที่พลเมืองใช้งานสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมือง
โตเกียว
เมืองหลวงของญี่ปุ่น รั้งอันดับ 5 ในดัชนีรวม และได้รับการจัดอันดับสูงสุดในดัชนีความปลอดภัยทางสุขภาพ ซึ่งได้วัดหลายปัจจัยอย่าง บริการสุขภาพถ้วนหน้า, การเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่, อายุคาดเฉลี่ย, สุขภาพจิต และอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 แม้ว่าผู้ติดเชื้อโรคโควิดจะเพิ่มขึ้นในช่วงการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่อัตราการติดเชื้อได้ลดต่ำลงอย่างมากแล้ว ขณะที่การให้วัคซีนแก่ประชาชนได้เพิ่มไปถึงเกือบ 60% ของจำนวนประชากรแล้ว
ท่ามกลางข่าวดีเหล่านี้ ญี่ปุ่นได้ประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉิน และค่อย ๆ ยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ในช่วงสิ้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นวางแผนที่จะกระตุ้นให้มีการใช้หนังสือเดินทางวัคซีนของตัวเองในการเข้าใช้บริการสถานพยาบาลและเข้าชมงานขนาดใหญ่ต่าง ๆ และกระตุ้นให้ห้างร้านต่าง ๆ เสนอส่วนลดหรือคูปองสำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางวัคซีนด้วย
กรุงโตเกียว ยังทำคะแนนสูงสุดอยู่ใน 5 อันดับแรกในด้านความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึง ความปลอดภัยในการเดินทาง, ความเป็นมิตรของคนบนท้องถนน และเครือข่ายคมนาคมขนส่ง ขณะที่กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองที่สะดวกสบายในการเดินเท้าและเชื่อมต่อกันด้วยทางรถไฟ กรุงโตเกียวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนเดินเท้าและมีปฏิสัมพันธ์กันภายในชุมชน
ซึ่งในทางกลับกันได้ทำให้พลเมืองได้ช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยของเมืองอย่างแข็งขัน ในรูปแบบของการป้องกันอาชญากรรมในย่านที่ตัวเองอยู่ และการช่วยกันจับตามอง และมีความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันอาชญากรรม
เซนา ชาง ผู้อยู่อาศัยในกรุงโตเกียวและเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารโกลบอล ยูธ รีวิว (Global Youth Review) กล่าวว่า "จากศูนย์รับคืนของหายตามสถานีรถไฟต่าง ๆ ไปจนถึงเกือบจะไม่จำเป็นต้องล็อกจักรยาน แสดงให้เห็นถึงการเคารพต่อสวัสดิภาพของผู้อื่นเป็นอย่างมาก"
เธอเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เธอทำถุงช้อปปิ้งหายบริเวณใจกลางกรุงโตเกียว และพบมันอยู่ในจุดเดิมที่เธอได้วางทิ้งไว้พร้อมกับกระดาษที่มีข้อความติดอยู่ เธอบอกว่า "วัฒนธรรมการรวมหมู่ที่สืบเนื่องมานานหลายร้อยปีและการเคารพกันและกันทำให้กรุงโตเกียวเป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดที่ฉันเคยอาศัยอยู่"