รีเซต

'ดอน' แจงแผนรับมือโควิด ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง และการทูตกับการแสวงหาวัคซีน

'ดอน' แจงแผนรับมือโควิด ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง และการทูตกับการแสวงหาวัคซีน
มติชน
12 กรกฎาคม 2564 ( 06:20 )
53
'ดอน' แจงแผนรับมือโควิด ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง และการทูตกับการแสวงหาวัคซีน

 

หมายเหตุ “มติชน” ถือโอกาสพูดคุยกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินการทางการทูตเพื่อจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับไทยในหลากมิติ และการดำเนินการภายในประเทศเพื่อความมั่นคงทางวัคซีน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านวิจัยและนวัตกรรมของไทย

 

 

 

๐รัฐบาลมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อรับมือกับโควิด-19 อย่างไรบ้าง

การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเริ่มเมื่อปลายปี 2562 ทำให้ทุกประเทศตื่นตัวหาทางรับมือ ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าสามารถรับมือกับการระบาดได้ดี ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือ
ร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐที่บริหารจัดการอย่างใกล้ชิดและประชาชนที่เอาใจใส่ตั้งการ์ดสูงตลอดเวลากับความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่สภาวะของไทยปีนี้ไม่เหมือนปีก่อนด้วยสาเหตุหลายประการทำให้จำนวนคนที่ติดเชื้อขยับขึ้นจากเลขสองหลักเป็นเลขสี่หลัก เรียกเสียงวิพากษ์กันอึงคะนึง

 

 

แต่ใครจะไปรู้ว่าจริงๆ แล้ว รัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆ ที่ครอบคลุมต้นทาง กลางทาง และปลายทางของปัญหาโควิด-19 มาอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้น ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง กล่าวคือ

 

 

“ปลายทาง” ด้วยการพยายามแก้ไขปัญหาผลกระทบที่มีต่อประชาชนในทุกวงการด้วยการจัดหาและเตรียมเงินงบประมาณเยียวยาและเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

 

“กลางทาง” โดยการจัดมาตรการเพื่อรับมือการแพร่ระบาด ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น การรณรงค์การเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ การทำงานที่บ้าน การล็อกดาวน์ในบางจุดและบางโอกาส และคลายล็อกเมื่อเหมาะสม การระดมบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครช่วยดูแลอย่างครบถ้วน การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับการแพร่ระบาด การสร้างการรับรู้ของประชาชนโดยการแถลงข่าวอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้คนไทยในต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางกลับบ้านและให้ชาวต่างชาติในไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศของตน รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ภายใต้มาตรการสาธารณสุขที่ไทยกำหนด และเริ่มโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวในวงจำกัดและวางมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสม เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและธุรกิจด้านท่องเที่ยว

 

 

“ต้นทาง” ด้วยการเตรียมการด้านวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเตรียมยารักษาโรคในกรณีที่ติดเชื้อแล้ว ประเทศผู้ผลิตวัคซีนได้ในขณะนี้คือ ประเทศที่มีวิทยาการความรู้และมีความเชี่ยวชาญซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนได้ในช่วงเวลาอันสั้นที่สุดในประวัติการณ์คือเพียง 1 ปี คือสหรัฐ จีน รัสเซีย อินเดีย อังกฤษ และเยอรมนีในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์วัคซีนไฟเซอร์ในสหรัฐ

 

 

๐ในฐานะที่ดูแลงานด้านวิจัยและนวัตกรรมในประเทศ ไทยมีการพัฒนาวัคซีนโควิดแบบใดบ้าง

ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่สนใจเตรียมการด้านความมั่นคงทางวัคซีนให้กับประชาชน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนของตนเองอย่างน้อย 4 โครงการ คือ 1.โครงการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชนิด mRNA 2.โครงการของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชนิดโปรตีนจากใบยา 3.โครงการขององค์การเภสัชกรรม เป็นชนิดเชื้อตาย และ 4.โครงการของบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เป็นชนิด DNA รวมทั้งเสริมความพร้อมของไทยในการเป็นแหล่งผลิตวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ให้มีวัคซีนเพียงพอกับการรับมือกับโควิด-19 ในบ้านเมืองและเพื่อการใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

การส่งเสริมผลักดันโครงการผลิตวัคซีนของไทยเพื่อให้ได้ผลผลิตโดยเร็ว ไม่เพียงแต่ส่งเสริมภาพพจน์ของประเทศไทย แต่จะมีคุณค่ามากต่อการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขของประเทศ อย่างน้อยความสามารถและความพร้อมในการต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่จะมีเต็มที่ขึ้นจากประสบการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ รวมทั้งการเตรียมตนเองต่อการกลายพันธุ์ของโควิด-19 เป็นเสมือนเชื้อประจำปี หรือเชื้อประจำถิ่นอย่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ต่อไป

 

 

 

๐เราใช้การทูตช่วยในการช่วยหาวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างไร

การจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนไทยเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เราใช้ทุกช่องทางรวมทั้งการทูตในการแสวงหาวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยน (vaccine swap) และการรับความช่วยเหลือ โดยได้ติดต่อประสานเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากแหล่งต่างๆ เช่น จากจีน ซึ่งมีวัคซีน Sinovac, Sinopharm, CanSino จากสหรัฐมี Pfizer, Moderna, Johnson & Johnson, Novavax จากรัสเซีย มี Sputnik V จากฝรั่งเศส ที่มีSanofi กับอินเดียก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน Covishield และ Covaxin

 

 

ในกรณีของจีน มีการหารือกันตั้งแต่การเยือนไทยของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทั้งในเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีนและการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศในอาเซียนและไทย หลังจากนั้นได้มีการหยิบยกเรื่องวัคซีนในทุกโอกาส กระทั่งในการหารือทางโทรศัพท์เมื่อ 22 เมษายนปีนี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนแจ้งผมว่าจีนต้องการสนับสนุนการต่อสู้กับโควิด-19 โดยการมอบวัคซีน Sinovac จำนวน 1 ล้านโดสให้กับไทย นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัคซีนของไทยจากจีน

 

 

ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ก็มีการผลักดัน vaccine swap กับหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และสหรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนหยิบยืมกันใช้ก่อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งหลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่บางประเทศเชื่อว่าอาจจะมีพอแลกเปลี่ยนกันได้ตั้งแต่กันยายน 2564 เป็นต้นไป เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 ล้าน 5 หมื่นโดสให้กับประเทศไทย ซี่งสะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ ผมได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนเรื่องการรับมอบวัคซีนกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งวัคซีนจำนวนดังกล่าวได้ส่งมาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม

 

 

สำหรับสหรัฐได้มีการติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผมได้หารือเรื่องนี้กับผู้ช่วยของประธานาธิบดีซึ่งรับผิดชอบ Vaccine Diplomacy ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขอให้สหรัฐพิจารณาสนับสนุนการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทย และได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ผมได้หยิบยกประเด็นการขอรับการจัดสรรวัคซีนอย่างเร่งด่วนสำหรับไทยกับนางเวนดี้ เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ กระทั่งเมื่อ 3 มิถุนายน รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศมอบความช่วยเหลือวัคซีนของสหรัฐรวม 80 ล้านโดสให้กับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 21 มิถุนายน การมอบความช่วยเหลือวัคซีนของสหรัฐให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ สะท้อนถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐมายาวนานกว่า 188 ปี และได้มีความร่วมมือด้านการสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดมานานปี โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐได้ให้ความร่วมมือและการสนับสนุนต่างๆ แก่ไทยในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

 

 

สำหรับโครงการแบ่งปันวัคซีนโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลก แม้ไทยจะไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก แต่ก็ได้ร่วมบริจาคเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับโคแวกซ์มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสามารถทำให้ประเทศไทยแลกเปลี่ยนวัคซีน ตลอดจนขายหรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตได้เองในอนาคตข้างหน้าให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ไทยประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2563 ว่าวัคซีนคือสินค้าสาธารณะ (global public goods) ที่ประเทศต่างๆ ควรเข้าถึงได้โดยทั่วถึง นอกจากนี้ประเทศไทยยังเข้าร่วมการหารือเกี่ยวกับวัคซีนในที่ประชุมหรือโอกาสต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

 

 

ขณะที่การคุกคามของโควิด-19 เปิดโอกาสให้สมุนไพรไทยได้ฉายแสงแสดงสรรพคุณที่มีค่าในการหยุดเชื้อได้ก่อนการขยายตัวเข้าสู่ปอด เมื่อใช้อย่างทันท่วงทีในช่วงต้นของการเริ่มติดเชื้อ รายงานการใช้ฟ้าทะลายโจรและกระชายขาวจากหลายสถานทูตในหมู่ชุมชนชาวไทย นับว่าเป็นข้อพิสูจน์ที่มีความหมายต่อการพัฒนาสมุนไพรไทยให้เกิดคุณค่าเพิ่มในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อีกด้วย

 

 

๐เราจะรับมือกับปัญหาขาดแคลนวัคซีนที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้อย่างไร

ความยืดเยื้อของโควิดที่เอากันไม่อยู่ทั่วโลกเพราะการกลายพันธ์โจมตีประเทศต่างๆ อย่างสายพันธ์เดลต้า มีผลต่อการวางแผนงานรับมือกับการแพร่ระบาดของหลายรัฐบาลทั่วโลก ทำให้วัคซีนขาดแคลน หลายดินแดนปลอดจากโควิดมาตลอดในปีที่แล้ว ปัจจุบันกลับถูกโควิดคุกคามรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดไปทั่วโลกรุนแรงมากน้อยต่างกัน ผลข้างเคียงลักษณะนี้เกิดกับหลายประเทศในเอเซียและอาเซียน

 

 

สถานการณ์ทั่วโลกในขณะนี้ชี้ชัดว่า การผันแปรของการระบาดจากไวรัสกลายพันธุ์ที่ทั้งกว้างขวาง รวดเร็ว และรุนแรง มีผลให้นานาประเทศตั้งรับไม่ทัน แผนการจัดหาและความสามารถในการผลิตวัคซีนอาจคลาดเคลื่อนจากเป้าหรือช่วงเวลาที่กำหนดไว้บ้าง เพราะได้รับผลกระทบจากไวรัสกลายพันธุ์ ความผันผวนของความเชื่อมั่นประชาชนต่อชนิดของวัคซีน ความต้องการวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของไวรัสและหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือทางการทูต (Vaccine Diplomacy) ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลก (global supply chain) ถูกกระทบ รวมทั้งสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตวัคซีนด้วย

 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ และจะทำต่อไปทั้งด้านการรักษาและการจัดหาวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางและทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายในปี 2564 บวกกับความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนมีความระมัดระวังป้องกันตัวเองและครอบครัว ด้วยมาตรการ “กลางทาง” ทั้งหลายอย่างเคร่งครัด ก็เชื่อว่าไทยจะธำรงความสามารถในการรับมือการคุกคามของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงและความเป็นเอกภาพอันมั่นคงและยั่งยืนเท่านั้น ที่จะส่งเสริมให้คนไทยนำพาบ้านเมืองให้ก้าวข้ามวิกฤต “สงครามโรค” ครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัยและฟื้นฟูประเทศไทยให้ชนในชาติเกิดสุขสมดุลทั่วหน้ากัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง