กรมชลประทานส่งเครื่องจักรขุดลอกคลอง แก้วิกฤตภัยแล้ง สุโขทัย-ปทุม-แปดริ้ว
กรมชลประทานส่งเครื่องจักรขุดลอกคลองชักลอกร่องน้ำที่สวรรคโลก สุโขทัย- อ.หนองเสือ ปทุมธานี และเมืองแปดริ้ว แก้วิกฤตภัยแล้งให้แก่เกษตรกร
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน มอบหมายให้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกล ของฝ่ายเครื่องจักรกลรถขุดที่ 2 ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 2 ประเภทรถขุดไฮดรอลิค แบบแขนยาวจำนวน 1 คันเข้าดำเนินการขุดลอกชักร่องน้ำช่วยเหลือเกษตรกร ในคลองมะม่วง พื้นที่หมู่ 4 ตำบลเมืองบางขลัง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เนื่องจากคลองมีความตื้นเขินและมีวัชพืชปกคลุมทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของเกษตรกรในพื้นที่โดยระยะทางขุดลอกชักร่องน้ำมีความยาวประมาณ 200 เมตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการทำนาทำสวน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 11 กุมภาพันธ์
ขณะเดียวกัน ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกล ของฝ่ายเครื่องจักรกลรถขุดที่ 6 ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 6 ประเภทรถขุดไฮดรอลิค แบบมาร์ซแบคโฮ จำนวน 1 คันขุดเปิดร่องน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้ง คลอง 9 ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ สำนักงานชลประทานที่ 11 ตั้งแต่ กม.7+100 ถึง กม. 7+600 ความยาว 500 เมตร เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ในการเพิ่มการระบายน้ำให้มีน้ำใช้ในการอุปโภค – บริโภคได้อย่างเพียงพอ
และพร้อมกันนี้ ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกล ของฝ่ายเครื่องจักรกลรถขุดที่ 6 ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 6 ประเภทรถขุดไฮดรอลิค แบบแขนยาวจำนวน 1 คัน เข้าขุดเปิดร่องน้ำในคลองเปรง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โครงการพระองค์ไชยานุชิต กม.15+800 ถึง กม.16+200 ความยาว 400 เมตร เพื่อบรรเทาภัยแล้งให้กับประชาชนหลายครับเรือนในพื้นที่ให้มีน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค และใช้ในการผลิตประปาให้กับประปาภูมิภาคและประปาท้องถิ่งในพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ด้านภัยแล้งในหลายพื้นที่ เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสักเพื่อส่งน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค พร้อมขอความร่วมมืองดการสูบน้ำเพื่อทำนารอบที่ 2 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อีกทั้งได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ ลงพื้นที่กำจัดวัชพืชและผักตบชวาในทางน้ำชลประทานและทางน้ำสายหลักต่าง ๆ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน รวมทั้งแม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้