รีเซต

บุกทลาย โรงงานเถื่อน ลักลอบผลิต น้ำปลา-น้ำส้ม จำนวนมาก กินแล้วสุดอันตรายเป็นอัมพาตได้

บุกทลาย โรงงานเถื่อน ลักลอบผลิต น้ำปลา-น้ำส้ม จำนวนมาก กินแล้วสุดอันตรายเป็นอัมพาตได้
ข่าวสด
21 มิถุนายน 2564 ( 15:42 )
87

ข่าววันนี้ 21 มิ.ย.64 พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงจับกุมผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมของกลางผลิตภัณฑ์อาหารปลอมยี่ห้อต่างๆ เช่น น้ำมันปาล์ม จำนวน 900 ถุง, น้ำกระเทียมดอง จำนวน 800 ขวด ขวดพลาสติกสำหรับบรรจุอีก 20,000 ขวด และเครื่องจักรที่ใช้สำหรับผลิต

 

ทั้งนี้ทางบก.ปคบ.ออกตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้คุณภาพ หรือผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยร่วมกับอย. ตรวจสอบเลขสารบบอาหารและสถานที่ผลิต จนพบน้ำปลาที่ลักลอบผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนจะเข้าตรวจบ้านพักในพื้นที่หมู่ 5 ต.ห้วยกะปิ อ.เมือง จ.ชลบุรี พบว่าถูกดัดแปลงใช้เป็นสถานที่ผลิตอาหารประเภท น้ำปลา, น้ำมันปาล์ม และน้ำกระเทียมดอง โดยที่ไม่ไดัรับอนุญาต จึงตรวจยึดของกลางทั้งหมดดังกล่าว

 

 

สอบสวน เจ้าของบ้านให้การรับสารภาพว่า ลักลอบผลิต น้ำปลา, น้ำส้มสายชู และน้ำกระเทียมดอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจริง สินค้าทั้งหมดจะนำส่งให้พ่อค้าตามตลาดนัดขายในราคาถูก

 

เจ้าหน้าที่จึงขยายผลไปตรวจยึด น้ำปลา 360 ขวด น้ำส้มสายชู 180 ขวด ยี่ห้อครัวไทย จากร้านขายของชำใน อ.ศรีราชา ที่รับซื้อจากโรงงานดังกล่าว จึงตรวจยึดของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวนกก. 4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีต่อไป

 

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบการลักลอบสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ผู้ที่บริโภคเข้าไปก็ไม่รู้ว่าเป็นของปลอม และอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ผสมในอาหาร หรือเกิดอันตรายจากกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาด หลังจากนี้ก็จะร่วมกับ อย.ดำเนินมาตราการเชิงรุก เพื่อจับกุมแหล่งผลิตเหล่านี้ต่อไป

 

 

ด้าน ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า เครื่องปรุงรสนั้นเป็นของคู่ครัวกับสังคมไทย จนทำให้มีผู้ฉวยโอกาศลักลอบผลิตสินค้าปลอมที่ไม่มีคุณภาพออกมาขายตามตลาดนัด และร้านขายของชำในราคาถูก ทั้งๆที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาจทำให้เกิดอาการแพ้จากการใช้สีผสมอาหาร หรือ กรดอะซิติก

 

หากผู้ผลิตใช้สีย้อมผ้า หรือสีย้อมกระดาษที่มีโลหะหนักพวก ตะกั่ว ปรอท สารหนู สังกะสีอยู่ เมื่อสะสมในร่างกายปริมาณสูง ก็จะทำให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ โลหิตจาง ถ้าสะสมมากขึ้นก็อาจถึงขั้นเป็นอัมพาต ที่แขน ขา เพ้อ ชักกระตุก และหมดสติเฉียบพลันได้

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมซึ่งเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือ ลักษณะพิเศษอย่างอื่น” ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุก 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท, ฐาน “ผลิตอาหาร ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง