รีเซต

บินไทย อ่วม! ครึ่งปีแรกขาดทุน 2.8หมื่นล้าน ผลกระทบโควิดรายได้ไตรมาส1 ลดเหลือ 3.8หมื่นล้าน

บินไทย อ่วม! ครึ่งปีแรกขาดทุน 2.8หมื่นล้าน ผลกระทบโควิดรายได้ไตรมาส1 ลดเหลือ 3.8หมื่นล้าน
มติชน
14 สิงหาคม 2563 ( 09:42 )
101
บินไทย อ่วม! ครึ่งปีแรกขาดทุน 2.8หมื่นล้าน ผลกระทบโควิดรายได้ไตรมาส1 ลดเหลือ 3.8หมื่นล้าน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด ทำให้ปริมาณความต้องการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ บริษัทฯ จึงได้ปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง รวมทั้งมีมาตรการและการบริหารจัดการด้านการเงินและกระแสเงินสดอย่างเคร่งครัด

 

โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 38,001 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11,790 ล้านบาท หรือ 23.7% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 42,609 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 8,010 ล้านบาท (15.8%) บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 456 ล้านบาท

 

สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกอย่างรุนแรง อีกทั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดเป็นการชั่วคราว โดยบริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการต่าง ๆ ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนอย่างเข้มงวดและรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้บริษัทฯ สามารถมีเงินสดในมือให้มากที่สุด

 

โดยไตรมาสนี้ได้ทำการบินเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 96.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 99.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 10.3% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยที่ 74.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.08 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 98.6% สำหรับด้านการขนส่งสินค้ามีอัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 99.9% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 52.8%

 

และเนื่องจากบริษัทฯ หยุดทำการบินชั่วคราว ทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดรายได้จากธุรกิจการบิน แต่มีรายได้ในส่วนอื่นทดแทน ได้แก่ รายได้จากการขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษ การให้บริการสายการบินลูกค้า การจำหน่ายอาหารจากครัวการบิน ทำให้บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,492 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 40,017 ล้านบาท หรือ 94.1%

 

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 นี้ บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการบริษัทฯ ฝ่ายบริหารและพนักงานร่วมกันสมัครใจปรับลดเงินเดือนตั้งแต่เดือนเมษายน-เดือนธันวาคม 2563 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทฯ ทำให้มีค่าใช้จ่ายรวม 16,193 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 33,428 ล้านบาท (67.4%) ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,353 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,525 ล้านบาท (22.2%) ทำให้ผลการดำเนินงานรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีตัวเลขรายได้รวมทั้งสิ้น 40,493 ล้านบาท ขาดทุนรวมทั้งสิ้น 28,029 ล้านบาท

 

ขอบคุณข้อมูลประชาชาติ