การผูกลายและแยกตัวลาย การฝึกหัดจัดและประกอบลาย เป็นพื้นฐานแรกเริ่มก่อนจะฝึกหัดผูกลาย แยกตัวลายการประกอบลาย หมายถึง การนำเอากระหนกและส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น กาบ เหงา เข้ามาประกอบกันให้ได้สัดส่วนสัมพันธ์กันทั้งลักษณะลาย ช่องไฟ จังหวะลีลาการเคลื่อนไหวเชื่อมต่อกัน จนเกิดเป็นลายใหม่ขึ้น เช่น ลายหน้ากระดาน ลายกรอบ ลายเครือเถา ลายช่อ ลายเปลว ลายก้านขด และลายอื่น ๆ โดยให้เหมาะสมกับการนำไปใช้เล่นลายหน้าบัน ลายผนัง ลายตู้พระธรรม ลายเสา เป็นต้น การผูกลายและแยกตัวลาย หมายถึง การนำเอาวิธีการของการประกอบลายมาต่อกันคล้ายเถาหรือต้นไม้ เช่น จากแม่ลายหรือที่เริ่มต้นของลายก็มีเถาออกขึ้นไปตามต้องการ เริ่มจากการใส่กาบ จากกาบมีกระหนก จากกระหนกก็สอดไส้รายละเอียด ทำยอดให้คดโค้งหรือสะบัดเป็นเปลว หากมีก้านหรือเถาจะแยกแขนงออกไปอีกและมีนกคาบ ลักษณะเหมือนนกใช้ปากคาบเถา ส่วนที่จะแยกแล้วออกเป็นสองหรือสามเถา ทางด้านตรงข้ามของปาก กล่าวคือ ไม่ได้แยกออกห้วน ๆ และแต่ละเถาก็เริ่มมีกาบ มีกระหนกสลับกัน ส่วนกระหนกก็สอดไส้ทำยอดอีกจนกระทั่งถึงสุดลายหรือหมดขอบเขตของภาพ วิธีการดังกล่าวนี้ช่างเขียนเรียก การผูกลายและการแยกตัวลาย • ภาพกระหนกนกคาบขั้นตอนการผูกลายและแยกตัวลาย1.การวางที่ออกลาย หมายถึง การเขียนลายต่าง ๆ หรือผูกลายนั้น ต้องมีที่มาหรือที่เกิดเสมอ จะไม่มีการเขียนขึ้นมาลอย ๆ ลายที่ออกคือมีกาบของลาย ตัวกระจัง ประจำยาม นกคาบ พุ่มข้าวบิณฑ์ เทพพนม เป็นต้น หรืออาจเป็นรูปทรงกลม สี่เหลี่ยม มีรูปอักษรบรรจุ รูปคน รูปสัตว์ หรือจะใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ มาบรรจุก็ได้2.การร่างเถาลาย ส่วนที่เป็นหลักสำคัญอีกประการหนึ่งในการผูกลายและแยกตัวลายดังกล่าวคือ “เถาลาย” เถาของลายนั้นต้องขนานเท่ากัน หรือทำเป็นเส้นคู่ขนานโดยตลอดทั้งภาพ การผูกลายไม่ว่าจะเป็นลายชนิดใดก็ตามต้องร่างเถาลาย เถาจึงต้องพอดีกับขนาดขอบเขตและรูปทรงของตัวลาย เพราะเถาเป็นสิ่งที่นำลายไปตามขอบเขตของพื้นที่ร่างหรือออกแบบไว้3.การวางตัวลายกระหนก นกคาบหรือกาบที่จะแยกลาย อยู่ที่การจัดจังหวะช่องไฟ ความสม่ำเสมอของตัวลายและนกคาบ กาบ ตลอดจนลักษณะของลายที่อยู่ในประเภทเดียวกันทั้งภาพนั้นๆ หลักเกณฑ์ในการผูกลาย1.ระยะของตัวกระหนก การแบ่งระยะตัวกระหนกหรือลายอื่น ๆ อย่าให้บางกลุ่มหยาบหรือบางกลุ่มละเอียดไม่เท่ากัน2.ทรงของตัวกระหนกต้องอยู่ในลักษณะทรงกลีบบัว3.ยอดของตัวกระหนกทุกยอดต้องไม่ด้วนหรือขาดหาย ถ้าเป็นยอดกระหนกเปลวต้องสบัดให้พริ้วอ่อนไหว4.เถาลายต้องลื่นพริ้วไหว ไม่หักหรือสะดุ้ง5.เส้นลายของลายไทยต้องมีลักษณะอ่อนโค้งรับกันทุกเส้นไม่หักหรืองอพับ6.ช่องไฟต้องมีความถี่ห่างสม่ำเสมอพอ ๆ กัน7.การผูกลาย เทคนิคของการผูกลายช่างเขียนลายเรียก “กลเม็ด” ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และแนวทางการออกแบบของแต่ละบุคคล * ภาพลายกระหนกแบบที่ 1 และ 2 ตามลำดับ แบบ 1 การต่อลายเถาเปลว มีกาบกระหนก นกคาบ และตัวกระหนกเปลวต่อสลับกันเป็นลายเถาเปลวเถาเลื้อยแบบที่2 การใช้กาบเดี่ยว การซ้อนตัวกนกและตัวยอดสลับกันและแบ่งตัวต่างกันเป็นเถาโค้ง *ภาพลายกระหนกแบบที่ 3 และ 4 ตามลำดับ แบบ 3 การต่อลายเถาเลื้อยกระหนกสามตัว มีกาบเดี่ยว กาบซ้อน นกคาบ ตัวกระหนกตัวเล็ก ตัวกระหนกตัวโต แบ่งเต็มตัวแบบ 4 ลายก้านขดกระหนกสามตัว มีตัวกระหนกเล็ก ตัวกระหนกโต ยอดลาย กาบ และนกคาบครบถ้วน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมนะคะ เครดิตภาพ : ภาพถ่ายสแกนจากเจ้าของบทความ ขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมค่ะ