ยุงเป็นปัญหาส่วนหนึ่งในเรื่องสุขภาพของผู้คนที่เราควรหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตามการแพร่กระจายของโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรคไปสู่มนุษย์และในสัตว์เลี้ยง หรือการรบกวนที่เกิดขึ้นจากกัดของยุงกับมนุษย์ ทำให้ยุงกลายเป็นสัตว์ที่เป็นปัญหามีความจำเป็นที่จะต้องคิดนวัตกรรมและวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ในบทความนี้ผู้เขียนจะมาชวนทำขวดไล่ยุงใช้กัน ด้วยหลักการง่ายๆ และวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ ใกล้ๆตัวเช่น ขวดพลาสติกเหลือใช้ ไส้ตะเกียงที่ซับน้ำได้ดี และวิธีทำที่ง่ายๆ สามารถทำด้วยตัวคุณเองได้เลย แต่มีประสิทธิภาพในการไล่ยุงที่สูงมากอย่างเหลือเชื่อ วัสดุและอุปกรณ์ในการทำขวดสำหรับไล่ยุง 1. ขวดพลาสติกที่เหลือใช้ล้างน้ำให้สะอาด ( ในครั้งนี้ผู้เขียนใช้ขวดนมสดที่มีความจุ 830 ml. ) 2. ยากันยุงแบบครีมสำหรับทา 2 ซอง 3. แอลกอฮอล์ล้างมือชนิดน้ำ 4. ไส้ตะเกียงหรือเศษผ้าที่ซับน้ำได้ดี ( ใช้ไส้ตะเกียงจะซับน้ำยาไล่ยุงได้ดีกว่า ) 5. กรรไกรหรือมีดคัตเตอร์ 6. เชือกเส้นเล็กๆ หรือลวด ( ถ้าต้องการใช้เป็นแบบตั้งก็ไม่ต้องใช้ลวดหรือเชือก ) 7. ปากกาเมจิก วิธีทำขวดสำหรับไล่ยุง 1. ขวดพลาสติก ใช้ปากกาเมจิกมาร์คจุดสำหรับเจาะรูไว้รอบๆ ขวดพลาสติก ให้ด้านล่างสูงจากก้นขวดประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของขวดพลาสติก ส่วนด่านบนให้เจาะก่อนถึงคอขวดพลาสติก แบ่งระยะห่างรอบขวดพลาสติกให้เท่าๆกัน 3-5 จุด ให้รูด้านล่างและด้านบนตรงกัน แล้วใช้กรรไกรหรือมีดคัตเตอร์เจาะให้ทะลุไม่ต้องใหญ่มากพอให้เศษผ้าหรือไส้ตะเกียงที่เราเตรียมไว้ลอดเข้าไปได้ ส่วนตัวของผู้เขียนเจาะรอบขวดพลาสติกไว้ 3 รู เจาะรูที่ฝาของขวดพลาสติกอีก 1 รู ไม่ต้องให้ใหญ่มากพอให้เชือกหรือลวดที่เราเตรียมไว้ให้เข้าไปได้พอดีส่วนความยาวกะเอาตามต้องการได้เลย มัดปมไว้ด้านในของฝาทำไว้สำหรับใช้แขวนในที่ต่างๆ ( ผู้เขียนใช้ลวดไม้แขวนเสื้อเก่าๆ เพราะมีอยู่แล้วและยังมีความแข็งแรงที่ดีอีกด้วย ) 2. การใส่ไส้ตะเกียงหรือเศษผ้า ( ส่วนตัวผู้เขียนมีไส้ตะเกียงอยู่จึงใช้ไส้ตะเกียงในการทำครั้งนี้ ) ต่อมาให้ใส่เศษผ้าหรือไส้ตะเกียงที่เราได้เตรียมไว้ถ้าเป็นเศษผ้าตัดให้กว้างประมาณ 1 นิ้ว ส่วนความยาวตัดให้ยาวกว่าขวดประมาร 2-3 นิ้วจำนวนตามที่เราเจาะรูไว้ สำหรับรูด้านล่างให้ใส่ไส้จนถึงก้นด้านในของขวดพลาสติก ส่วนด้านนอกให้เอาไส้ที่เหลือไปใส่รูทางด้านบนของขวดพลาสติกให้เข้าไปอยู่ด้านในของขวดพลาสติกประมาณครึ่งนิ้วกันไส้หลุดร่วงลงมา ถ้าไส้ยาวเกินให้ใส่ลงไว้ด้านล่างของขวดพลาสติกให้ไส้ด้านนอกของขวดพลาสติกตึงพอดี 3. การผสมน้ำยาไล่ยุง เตรียมภาชนะสำหรับผสมอะไรก็ได้ที่พอจะใส่น้ำไม่ไหลออก นำยากันยุงชนิดครีมทั้ง 2 ซอง ลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วใส่แอลกอฮอล์ลงไปให้ปริมาณพอดีกับขวดพลาสติกที่เราได้เจาะรูไว้ประมาณรูด้านล่าง คนให้ครีมยากันยุงและแอลกอฮอล์ผสมกันดีแล้วกรอกใส่ขวดพลาสติกใส่น้ำยากันยุงให้ต่ำกว่ารูด้านล่างเล็กน้อย ปิดฝาพอแน่นรอให้ไส้ซับน้ำยาไล่ยุงให้เต็มที่แล้วนำไปแขวนไว้ในที่ที่เราต้องการไล่ยุง น้ำยาไล่ยุงที่ไส้ด้านนอกของขวดพลาสติกจะระเหยออกมาจะช่วยป้องกันยุงและช่วยไล่ยุงออกไปจากบริเวณนั้นๆ หลังจากผู้เขียนทดลองใช้งานมาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ผู้เขียนรู้สึกว่าการไล่ยุงมีผลที่ดี ปกติแล้วตอนเย็นๆหรือค่ำผู้เขียนจะนั่งเล่นบริเวณหน้าบ้านต้องจุดยากันยุงแต่ก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ตั้งแต่ผู้เขียนใช้วิธีนี้ กลายเป็นว่าไล่ยุงได้ดีขึ้นในมุมต่างๆ ที่ผู้เขียนชอบนั่งเล่นเป็นประจำ และในบริเวณโล่งยังใช้ได้ดีน่าจะครอบคลุมบริเวณพื้นที่ได้ประมาณ 3-4 ตารางเมตร ก็ยังทำการไล่ยุงได้ดีช่วยทำให้ยุงลดน้อยลงหรือบางครั้งไม่มีเลย ทำให้ผู้เขียนนั่งพักผ่อนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสบายใจไม่ต้องคอยกังวลเรื่องยุง ประหยัดกว่าการจุดยากันยุงชนิดขดและไม่มีควันของยากันยุงมารบกวน ผู้เขียนคิดว่าเหมาะมากเลย สำหรับน้องหมาน้องแมวที่นอนอยู่นอกบ้าน หรือเล้าไก่ คอกวัว คอกควาย ลองทำใช้ดูกันนะประหยัดไล่ยุงได้ ปลอดจากควันของยากันยุง ทำ 1 ครั้ง ใช้ได้นาน 3-4 วัน หรือถ้าน้ำยาไล่ยุงหมดก่อนก็ผสมน้ำยาไล่ยุงใส่เข้าไปใหม่ ภาพทั้งหมดโดยผู้เขียน