รีเซต

สธ.ออกคำแนะนำตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฉบับใหม่ ย้ำ! ATK First

สธ.ออกคำแนะนำตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฉบับใหม่ ย้ำ! ATK First
มติชน
7 มีนาคม 2565 ( 15:53 )
61

ข่าววันนี้ (7 มีนาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยระหว่างแถลงรายงานการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงมีการออกคำแนะนำประชาชนฉบับล่าสุด ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะผู้บริหารแล้ว โดยสาระสำคัญในคำแนะ ได้แก่ สิ่งส่งตรวจ เพื่อเชื้อโควิด-19 ที่เหมาะกับการตรวจสารพันธุกรรม จากเดิมใช้วิธี RT-PCR แต่ในวันนี้ สามารถใช้น้ำลายได้ โดยจะให้ผลใกล้เคียงกัน ส่วนการตรวจหาแอนติเจน จะมีแบบ 2 อย่าง คือ Professional use ที่จะต้องใช้ไม้แหย่จมูกไปจนถึงช่องหลังโพรงจมูก และอีกแบบคือ Home use หรือ Self test ก็ใช้โพรงจมูกหรือน้ำลายได้ แต่หากใช้น้ำลาย อยากให้ใช้น้ำลายในช่วงเช้า หลังตื่นนอนจะดีที่สุด และควรงดการแปรงฟัน อาหาร ของคบเคี้ยว ยาอม อย่างน้อย 30-60 นาที ขึ้นอยู่กับชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ

 

“เดิมเราให้การตรวจยืนยันใช้วิธี RT-PCR เป็นหลัก แต่ในขณะนี้ มีเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น LAMP โดยมีหลักการคล้ายๆ กัน ในอดีต RT-PCR เป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยสามารถตรวจจับไวรัสที่มีแม้ไม่เกิน 1,000 copies/cc แต่ในตอนนี้ สามารถตรวจได้แม้มีไวรัสต่ำกว่า 1,000 copies ส่วนการรายงานผล not detected แปลว่า ตรวจไม่พบสารพันธุกรรม ส่วน detected แปลว่า พบสารพันธุกรรม ส่วน inconclusive แปลว่า สรุปไม่ได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการใช้ชุดตรวจนั้น แนะนำให้ใช้เอทีเคเป็นอย่างแรก (ATK First) หากมีความเสี่ยง/มีอาการ หากเป็นบวก ต้องประเมินอาการว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ หากไม่มี ให้เข้าสู่ HI หรือ CI หรือ OPD ได้โดยกักตัว ตรวจซ้ำใน 3 วัน หรือเมื่อมีอาการ แต่หากมีความเสี่ยง แนะนำให้ตรวจ RT-PCR และแอดมิดเข้าไปที่โรงพยาบาล (รพ.)

 

“ถ้าช่วยกันทำแบบนี้ เตียงที่ รพ.จะไม่มีปัญหา ส่วนในกรณีที่เปิดประเทศ และยังมีคนที่ต้องเข้าสู่ระบบคัดกรองเข้าสู่ประเทศในวันนี้ยังคงใช้ RT-PCR เป็นหลัก แต่ RT-PCR มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แม้ว่ากรมวิทยาศาสตร์ฯ จะลดราคาเหลือ 900 บาท หากเดินทางไปตรวจที่ด่านระหว่างประเทศ เช่น ไปเช้า-เย็นกลับ หรือ One day trip อาจจะใช้วิธีการตรวจแอนติเจนที่ไม่ใช่เอทีเค แต่ใช้เครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติแม้น้ำลายก็ตรวจได้ ผลออกภายใน 30 นาที จึงขอให้พิจารณาให้ใช้ได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า อยากให้ทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกัน ทางภาครัฐโดย สธ.และภาคีที่เกี่ยวข้องจะยังทำงานเต็มที่ หากการติดเชื้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาของการจัดการอาจไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ก็เข้าใจว่าประชาชนเมื่อติดเชื้อจะมีความกังวล แต่เราต้องช่วยกัน ทางภาครัฐก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องโทรไม่ติด เพื่อจะจัดการเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน อยากให้ระมัดระวังตัวเอง หากถอดหน้ากากเมื่อไร ความเสี่ยงก็มาเมื่อนั้น

 

ทางด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรม วัตถุประสงค์เพื่อหาสายพันธุ์ที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศในช่วงขณะนั้น และย้ำว่าเชื้อโอมิครอน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย นอกจากนี้ กำลังหาสายพันธุ์ใหม่จากการตรวจหาพันธุกรรมด้วยเช่นกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง