ปลายเดือนเมษายน 2563 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังพิจารณาคลายล็อกการประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเวลานี้ หากเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสรับฟังการแถลงข่าวประจำวันของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข คงจะคุ้นเคยกับคำศัพท์ใหม่ คือ "New Normal หรือชีวิตปกติรูปแบบใหม่" ซึ่งก็คือวิถีชีวิตใหม่ที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกันในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ คือ กินร้อน ช้อนตัวเอง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นยุคสมัยที่เราทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ครอบครัว และสังคมส่วนรวม ด้วยเหตุที่โรคโควิด-19 จะอยู่กับเรา 1 - 2 ปี นับจากนี้ จนกว่าจะมียาต้านไวรัสหรือวัคซีนที่สามารถรักษาและป้องกันโรคได้ ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของทุกชีวิต จึงต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะกว่าที่เราทุกคนจะกลับสู่สภาวะปกติได้ ก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การควบคุมภายในประเทศไทย แต่เป็นการควบคุมได้ทั้งโลก กระนั้นก็ตาม เรายังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือหลังจากการคลายล็อก เนื่องจากปัจจัยส่งเสริมการระบาดของโรคไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศไทยประเทศเดียว แต่ทั่วโลกก็เผชิญกับโรคระบาดนี้เช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยห่างไกลจากการระบาดครั้งที่ 2 ของโรคโควิด-19 วิถีชีวิตของคนไทยจะเปลี่ยนไป โดยทุกคนต้องร่วมมือกัน หันกลับมาดูแลตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมมากขึ้น โดยการปรับตัวด้านวิถีชีวิต เช่น การเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) อยู่ให้ห่างจากผู้สูงอายุในบ้าน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากบ้าน พกเจลล้างมือตลอดเวลา ใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี ห่วงใยตัวเอง ห่วงใยซึ่งกันและกัน และมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ไม่สร้างภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทำหน้าที่อย่างหนักในเวลานี้ ทั้งนี้ New Normal ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ "การเว้นระยะห่างทางกายภาพ อยู่ให้ห่างจากผู้สูงอายุในบ้าน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากบ้าน และพกเจลล้างมือตลอดเวลา" แต่ New Normal ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในการดำเนินชีวิตของทุกคน ลองสังเกตว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราบ้าง เราอนามัยจัดกันมากขึ้น เรารักชีวิตมากขึ้น เรามีจิตสำนึกที่ดีมากขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระสังคม เราติเตียนด้วยสายตาเมื่อคนไม่สวมหน้ากากอนามัยเข้ามากใกล้ เราซื้อของออนไลน์มากขึ้น เราหัดเล่นแอปฯ ที่ไม่เคยลองมากขึ้น เราเข้าสู่โลกออนไลน์ในการแสวงหาคววามรู้มากขึ้น เราทำงานจากที่บ้านได้ ยกเว้นสายชอบประชุม ยังมานั่งสุมรวมกันเพื่อรับเชื้ออยู่ ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมและอารมณ์เหล่านี้จะติดตามเรามาเรื่อย ๆ จนกว่าโรคระบาดจะหมดไปจากโลก สำหรับมาตรการ New Normal ของภาครัฐที่เริ่มรณรงค์ เช่น ปรับระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ (New Normal Medical Services) เช่น สนับสนุนการดูแลตนเองผ่านแอปพลิเคชันและสื่อ การพัฒนาระบบข้อมูลด้านสุขภาพ การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบ Drive Thru การรับยาร้านยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ การให้คำปรึกษาทางไกล การซื้ออาหาร โดยผู้ขายจะต้องสวมหน้ากากอนามัย ส่วนผู้ซื้อก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ไปใช้บริการ โดยเข้าคิวให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 - 2 เมตร การใช้บริการพาหนะสาธารณะ คนขับและกระเป๋ารถเมล์ต้องสวมหน้ากากอนามัย ผู้โดยสารสวมหน้ากากผ้าอนามัยทุกครั้งที่ไปใช้บริการ ต่อแถวเข้าคิวขึ้นรถโดยสารให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 - 2 เมตร เลือกรถโดยสารที่มีพื้นที่ว่างระหว่างกัน และไม่แออัด เป็นต้น ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อเปิดพื้นที่บางส่วนให้ผู้คนได้กลับมาใช้ชีวิตได้ เป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตาว่า เราทุกคนจะยังคงรักษาสิ่งที่ได้เพียรพยายามควบคุมการระบาดของโรคในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้หรือไม่ หรือเราต้องกลับมาล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง ทั้งนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพวกเราทั้งสิ้น เพราะการกระทำของทุกคนมีผลต่อความปลอดภัยของประเทศจากโรคระบาดโควิด-19 อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ความท้าทายของประเทศไทยหลัง "COVID-19" จบสิ้นลง เครดิตภาพปกและประกอบฟรี จาก Canva Application