รีเซต

ศิธา ลั่น ต้องทำกทม.ให้เฟรนด์ลี่กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทุกประเทศอยากมาเวิร์กฟอร์มไทยแลนด์

ศิธา ลั่น ต้องทำกทม.ให้เฟรนด์ลี่กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทุกประเทศอยากมาเวิร์กฟอร์มไทยแลนด์
มติชน
13 พฤษภาคม 2565 ( 15:50 )
56

ข่าววันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม ที่บริษัทข่าวสด มติชน ทีวี เชิญ 4 ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากโพลมติชน ทีวี ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สังกัดพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สังกัดอิสระ และ น.ต.ศิธา ทิวารี สังกัดพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) มาร่วมเวทีเสวนา ‘คุณถามมา… (ผู้สมัคร) ผู้ว่า กทม. ตอบ’ จัดเต็ม 20 คำถามสุดเฉียบ จาก 20 คนกรุงเทพฯ อาทิ นายธงทอง จันทรางศุ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บิทคับ, ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ผู้ส่งเสริมศักยภาพผู้พิการ, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่, อ๋อม-สกาวใจ พูนสวัสดิ์ นักแสดง ฯลฯ

 

โดยน.ต.ศิธา ได้ตอบคำถามชุดแรกในปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยถามว่า กรุงเทพฯ เกิดมาก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และมีมรดกที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอยากฝากถามว่าจะจัดการมรดกทางวัฒนธรรมหรืออดีตของกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ให้สามารถเป็นประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร น.ต.ศิธา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าจุดขายของกรุงเทพฯ ล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น เราเคยได้ยินว่าเราเป็นสยามเมืองยิ้ม ซึ่งก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ย่านเก่าของกรุงเทพฯ มีต่างชาติอยากมาเที่ยว แต่ผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารกทม.ไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย เราทำลายย่านเก่าและวัฒนธรรมเดิมๆ ไปโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้ในย่านเก่าที่มีความเจริญในอดีต แต่เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป กทม.ได้ปรับเปลี่ยนและโยกย้ายไปทำลายชุมชน ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านหลายที่ เช่น ชุมชนป้อมพระกาญ ที่กทม.ได้ไปรื้อชุมชนและนำไปทำสวนข้างป้อมพระกาญ ทำให้จุดเด่นของกทม.ถูกทำลายไป ในหลายๆ เรื่องที่เป็นวัฒนธรรมและสืบทอดกันมาจนกระทั่ง กทม.ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่น่ามาเที่ยว แต่เขามีต่อท้ายว่าน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ วัฒนธรรมเดิมๆ ทำให้กทม.น่าเที่ยว แต่วัฒนธรรมองค์กรของกทม.ของระบบราชการไทย ทำให้กทม.ไม่น่าอยู่

 

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า ในเรื่องโครงสร้างกทม.และหน่วยราชการไทยทั่วไป เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่แย่มากๆ และเราเคยได้ยินมาตลอดว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวที่มาขัดขวางความเจริญ และการพัฒนาขององค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งวัฒนฑรรมที่เกิดขึ้นมาคือวัฒนธรรมองค์กรคือระบบรัฐราชการเต็มรูปแบบ และทำงานในระบอบอุปถัมภ์ คือ การทำงานเพื่อเอาใจนาย เพื่อตัวเองจะได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง แต่การทำงานของข้าราชการจริงๆ ต้องทำงานรับใช้ประชาชน ภาครัฐโดยเฉพาะกทม.ต้องฟังเสียงรากหญ้า เสียงประชาชนว่าต้องการให้ใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของพวกเขาอย่างไร ซึ่งเราไม่เคยมีการแก้ไขตรงนี้เลย ตนจึงใช้คำพูดที่ว่าตนจะทำในสิ่งที่ผู้ว่ากทม.ไม่เคยทำ

 

เมื่อถึงคำถามชุดปัญหาคุณภาพชีวิตและบริการ มีคำถามว่า ช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา คนกทม.พบวิกฤตการณ์ที่รุนแรง ทำให้การเข้าถึงระบบการรักษาของหน่วยงานรัฐหรือศูนย์บริการสุขภาพของรัฐลำบาก มีขั้นตอนยุ่งยาก ยึดถือระเบียบ ทำให้วิกฤตการณ์รุนแรงขึ้น จึงอยากถามว่ามีนโยบายอย่างไรที่จะทำให้เข้าถึงการรักษาโดยง่าย น.ต.ศิธา กล่าวว่า เรื่องการรักษาพยาบาล กทม. เรามีโรงพยาบาลอยู่ทั้งสิ้นเกือบ 140 โรงพยาบาล โดยเป็นโรงพยาบาลของกทม.แค่ 11 โรง และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.อีก 69 แห่ง จุดบกพร่องของกทม.ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ด้านการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ที่เราบอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จริงๆ คนถูกทิ้งไว้ด้านหลังทุกด้านที่กทม.ต้องรับผิดชอบ ด้านการรักษาพยาบาลก็เช่นกัน ทุกวันนี้เราจะมุ่งเน้นความเป็นเลิศในด้านต่างๆ กทม.ได้คิดการแก้ปัญหาด้วยการโชว์เคส โดยการให้ชุมชนเห็นว่าได้ทำสิ่งต่างๆ แล้ว แต่คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือคนที่อยู่ไกลจากสวนลุม คนที่อยู่ในชุมชนแออัด คนที่อยู่ในสลัม

 

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า ฉะนั้น ก่อนจะไปถึงความเป็นเลิศ กทม.ควรจะมาโฟกัสและทำเรื่องความเสมอภาคให้ได้ก่อนคือ ขณะนี้มีอาสาสมัครสาธารณสุขที่อยู่ในชุมชน ถามว่าเขาทำอะไรได้บ้าง ก็มีการวัดไข้และจ่ายพารา ซึ่งทำไม่ได้ เราต้องใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการกทม. ใช้ 11 โรงพยาบาลที่มีไปเติมเต็มให้คน กทม.ที่ยังขาดอยู่ กทม.ต้องเป็นเมืองของทุกคน ไม่ใช่เป็นเมืองของคนมีเงินอย่างเดียว ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ตนแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ การบริหารจัดการในภาวะปกติกับการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน ในสถานการณ์โควิดทั้งหน่วยงานขอวงรัฐและกทม.ไม่เคยได้รับความเชื่อมั่นจากคน กทม.เลย ตรงนี้เราต้องมาเปลี่ยนมายเซ็ตใหม่ และมาทำความเสมอภาคให้ได้ก่อนความเป็นเลิศ ซึ่งตนยืนยันคำเดิมว่า เรื่องนี้ไม่เคยมีคนทำและตนจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ

 

เมื่อถามถึงปัญหาเศรษฐกิจและการทำกิน มีคำถามว่า จะทำอย่างไรให้กทม.เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัล น.ต.ศิธา กล่าวว่า ทุกวันนี้จากเศรษฐกิจยุคเก่าเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลอิโคโนมีหมดแล้ว มหาเศรษฐีของโลก 10 อันดับแรก 8 อันดับถูกเปลี่ยนเป็นเด็กรุ่นใหม่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกโหวตว่ามีคนอยากมาอยู่และกทม.ก็ได้รับการโหวตจากคนทั่วโลกเช่นเดียวกันว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งขณะนี้ต่างชาติอยากจะหาเมืองที่เป็นเฟรนด์ลี่กับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เขาอยากจะมาทำงานที่นี่ แต่เมื่อมาเจอโควิดเป็นตัวที่เร่งปฏิกิริยาให้คนทำงานได้ทุกที่หลายสิบเท่า นักธุรกิจปัจจุบันก็มูฟตัวเองไปอยู่ในดิจิทัลอิโคโนมีหมด และในอนาคตเราจะต้องสร้างประเทศและสร้างกทม.ให้รองรับเศรษฐกิจแบบดิจิทัลอิโคโนมีให้ได้ ซึ่งจะการจะทำให้กทม.รองรับตรงนี้คือ 1.ต้องให้มีบริการไวไฟสำหรับคนที่อยากจะมาอยู่

 

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า 2.คนที่อยากมาอยู่ประเทศไทยเพราะเขาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก เขาอยากมาเพราะเขาอยากมากินสตรีทฟู้ดของบ้านเรา อยากมาเพราะชอบบรรยากาศที่เป็นสยามเมืองยิ้ม อยากมาสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ วิถีชีวิต แต่กทม.ไม่ได้สนับสนุนตรงนี้ ฉะนั้น กทม.ต้องมาจัดสรรให้ดี มาดูว่าเราจะปลดล็อกกฎหมายที่อยู่ในขีดจำกัดของกทม.ส่วนหนึ่ง ซึ่งหากตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.ตนจะบอกกับรัฐบาลว่าหากคุณให้ภูเก็ตเป็นแซนด์บอกซ์ได้ กทม.ขอทำตัวเป็นรีเกอร์แซนด์บอกซ์บ้าง เพราะเราได้รับวิกฤตหนักสุดทั้งโควิด เศรษฐกิจ และการเมืองที่ผ่านมา เพื่อมาปลดล็อกกฎหมาย ทำกทม.ให้เฟรนด์ลี่กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้ทุกคน ทุกประเทศทั่วโลกอยากมาเวิร์กฟอร์มไทยแลนด์

 

เมื่อถึงชุดคำถามทั่วไป มีคำถามว่า เมื่อเลือกตั้งจบแล้วท่านจะเป็นศัตรูหรือเป็นมิตรกันจะสามัคคีกันได้หรือไม่ น.ต.ศิธา กล่าวว่า ตนพูดอยู่ทุกครั้งหรือทุกเวทีว่า จุดมุ่งหมายในการลงสมัครครั้งนี้บรรทัดสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่แพ้ชนะ บรรทัดสุดท้ายอยู่ที่จะพัฒนากทม.ซึ่งเป็นบ้านของเรา บ้านที่ตนอยู่มา 50 กว่าปีได้อย่างไร ฉะนั้น เป้าหมายแรก หากตนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ตนสามารถทำทุกนโยบายและทุกแนวความคิดที่ตนคิดจะทำให้บ้านเมืองนี้ได้ เป้าหมายที่สอง แม้ตนไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่นโยบายที่ตนพูดไป ใครจะเอาไปทำไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์และไม่ต้องมาบอกว่าเป็นนโยบายตน จะนำไปใช้อะไรก็ได้ และหากมีตรงไหนที่อยากให้ตนเข้าไปช่วยตนก็ยินดีที่จะเข้าไปช่วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ไม่คิดเงินเดือน และไม่ต้องให้ตำแหน่งตน เพราะตนอยากทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองนี้

 

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่สามคือ นโยบายทั้งหมดที่ตนให้ไปเป็นนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยสร้างไทย ที่มองว่าประเทศนี้ต้องแก้ไขไปในทิศทางที่ถูกต้อง จะไปแก้ไขและใช้วิสัยทัศน์แบบเดิมไม่ได้ กทม.คือโครงการนำร่องที่ตนและพรรคไทยสร้างไทยจะนำเสนอให้ประชาชนคนกทม.และคนทั่วประเทศได้เห็นว่าเราจะทำอะไรให้ประเทศนี้ ฉะนั้น ในสามเป้าหมายนี้ยืนยันได้อย่างดีว่าตนจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ เรามาร่วมกันสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุดให้กับลูกหลานดีกว่า เราจะเป็นเสาเข็ม เป็นนั่งร้านให้กับลูกหลาน เมื่อทำงานกันได้เราก็จะถอนออกไปให้ลูกหลานทำ ฉะนั้นเป็นการส่งมอบประเทศไทยที่ดีที่สุดให้กับลูกหลาน

 

ส่วนคำถามในรอบสอง มาจากชาวกรุงเทพมหานคร ที่ถามว่า ปัญหารถติดทุกเส้นทาง มีนโยบายใดที่จะแก้ปัญหานี้ ทำได้จริงในระยะเวลาเท่าไหร่ น.ต.ศิธา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหารถติดจะเอาใครที่ซุปเปอร์แมนหรือซูปเปอร์ฮีโร่เข้ามาแก้ไข ตนว่าได้เต็มที่ไม่เกิน 10% คือระยะเวลาในการเดินทาง 60 นาทีอาจจะลดลงเหลือ 54 นาที ซึ่งไม่เพียงพอ ทุกเมืองใหญ่ทั่วโลก ทุกเมืองหลวงที่เขาพัฒนาแล้ว รถไฟฟ้าคือคำตอบสุดท้าย ซึ่งมีการเขียนเส้นทางรถไฟฟ้าไว้ 10 เส้นทาง แต่เส้นทางเอกมัย-รามอินทราอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากมีการสร้างทางด่วน จึงเหลือแค่ 9 เส้นทางซึ่งหากเราทำสำเร็จปัญหาหลายปัญหาจะแก้ไขได้ ทั้งรถติด มลภาวะ ซึ่งปัญหารถติดหากเราไม่สามารถดึงคนออกจากรถได้ รถก็จะไม่ออกจากถนน ฉะนั้น ทุกวันนี้ตัวเลือกที่ดีที่สุดของคนกทม.ในการเดินทางคือ รถยนต์ รถไฟฟ้ามีแค่ 3 เส้นทางและไม่ครอบคลุมทุกเส้นทาง ไม่ตอบโจทย์ ราคาถูกกว่ารถแท็กซี่แค่ครึ่งเดียว หากเขาไม่เดินทางคนเดียวเขาไม่ไปรถไฟฟ้า เราจึงต้องเร่งขยายทั้ง 10 เส้นทางและรัฐบาลหรือกทม.จะไปเอาผลตอบแทนจากประชาชนเป็นจำนวนเงินไม่ได้ ต้องเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เวลาการทำงานที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ไม่จำเป็นต้องมาหาประโยชน์จากรถไฟฟ้า

 

สำหรับคำถามจาก ผู้ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้าขาย ที่ถามว่า จะจัดการอย่างไรกรณี หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ริมฟุตบาท ให้ขายอยู่ที่เดิมได้อย่างไร น.ต.ศิธา กล่าวว่า หากผู้ว่าฯ กทม.เอาจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของอำนาจหน้าที่ของตนเองเป็นตัวตั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ มี 3 ส่วน คือ 1.การบังคับใช้กฎหมายให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข 2.การจัดสรรให้ทุกคนสามารถทำมาหากินได้ และ 3.อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ต้องบาลานซ์กันทั้ง 3 ส่วน จะไปบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงด้านเดียวทำให้สมดุลอุปสงค์ อุปทานผิดเพี้ยนไป ทั้งนี้ ในการจัดสรรดีมาน ซัพพายเดิมดีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีคนต้องการซื้อ พ่อค้าแม่ขายไม่ไป การค้าขายสิ่งที่ต้องยึดคือ โลเคชั่น เท่านั้น ฉะนั้น จัดในทำเลของเดิม จัดให้คนเดินได้ บาลานซ์ทั้ง 3 ส่วนคือ คนเดิน คนขาย และคนซื้อ คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องทำได้ และไม่เคยทำมาก่อน ตรงนี้กทม.ต้องไปแก้ไข

 

เมื่อถามถึงการจัดการขยะในคลอง น.ต.ศิธา กล่าวว่า หากย้อนกลับไปถามคนถามว่าควรจะทำอย่างไร ตนเชื่อว่าเขามีคำตอบ ชาวบ้านในชุมชนรู้ว่าบ้านหลังไหนโรงงานไหน หรือโรงแรมไหนที่ไปทิ้งขยะลงคลอง การจะป้องกันและกำกับดูแลจะมีหลายส่วนด้วยกัน อันดับแรกคือ การลดขยะในชุมชนต้องช่วยกันและต้องเฝ้าระวัง และมีกรบวนการในชุมชนที่ต้องคณะกรรมการมาดูแล ซึ่งจะช่วยลดต้นทางในการทิ้งลง ทั้งนี้ มาตรการในการไปตรวจสอบ จริงๆ เราสามารถจะใช้เทคโนโลยีเดียวได้ถึงสองถึงสามส่วน พื้นที่ริมคลองที่คนจะไปทิ้งขยะ ในชุมชนรู้หมดว่าจะไปทิ้งตรงไหน ฉะนั้น หากเราจะติด cctv ในการจะไปป้องกันก็จะได้ประโยชน์สองส่วนคือ พื้นที่จุดเสี่ยงที่จะเกิดการคุกคามต่างๆ และคนที่จะไปทิ้งขยะในบริเวณนั้น เขาก็จะไม่กล้า ตนคิดว่าในอนาคตเชื่อว่าทั่วเมืองจะต้อง cctv กันหมดอยู่แล้วต้องมีการกำกับดูแล ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย การปล่อยน้ำเน่าเสียจากห้างร้าน อุตสาหกรรมต่างๆ กทม.ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

 

ส่วนคำถามสุดท้ายจากพิธีกรถามว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร แล้วมีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แล้วรัฐบาลใช้กำลัง ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา โล่กระบอง เข้าสลายการชุมนุม หรือถ้าชุมนุมมากจนมีการรัฐประหาร ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร มีจุดยืนอย่างไรกับเรื่องนี้ น.ต.ศิธา กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. คือ ต้องบริหารจัดการให้คนอยู่อย่างมีความสงบสุข มีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่ผู้ว่าฯ กทม.เป็นพ่อเมืองหลวงจะเป็นบ้านไหนก็แล้วแต่ เมื่อมีคนเดือดร้อนเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น ขั้นแรกต้องลงไปดูแลเขาก่อนตามสิทธิมนุษชน การบังคับใช้กฎหมายหากคิดแต่ว่าต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด แบบนี้บ้านเมืองอยู่ไม่ได้เพราะไม่ดูภาพรวม ฉะนั้น ต้องบาลานซ์การบังคับใช้กฎหมายและรักษาสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.ใช้วิธีไปแกล้งเขาโดยไม่ให้ห้องน้ำเขาบ้าง ใช้กฎหมายรักษาความสะอาดไปจัดการเขาบ้างแบบนี้ เราต้องไปดูแลถ้อยทีถ้อยอาศัยว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เดี๋ยวจะเป็นตัวกลางติดต่อกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าปัญหาให้มาคุยกัน และอาจจะบอกว่าการชุมนุมไม่ได้มีแค่คุณที่เดือดร้อน อาจจะมีคนอื่นเดือดร้อนด้วย อาจจะขยับกันนิดหนึ่ง แต่หากไปจัดที่ให้ชุมนุมมันทำไม่ได้ เพราะสถานที่การชุนนุมมันทรงพลังกับการต่อรองกับรัฐบาลที่ไม่ยอมฟัง หรือหน่วยงานราชการต่างๆ เราต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยและเป็นตัวกลางในการไปคุย เรื่องสิทธิมนุษยชนและห้องน้ำเราต้องไปช่วย ส่วนหากเกิดการรัฐประหารแล้วผู้ว่าฯ กทม.จะทำอย่างไรนั้น ไม่มีใครทำอะไรได้เลยเขาคือรัฐถาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคำถามที่ถามเกินจากอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ทุกหน่วยงานต้องทำตาม ฉะนั้น ขั้นแรกสิทธิมนุษยชนในเรื่องการชุมนุมต้องทำได้โดยไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง