รีเซต

สำนักงานกสทช. ลั่นกลองประมูลวงโคจรดาวเทียมมิ.ย. กดราคาขั้นต่ำ-สกัดฮั้วประมูล

สำนักงานกสทช. ลั่นกลองประมูลวงโคจรดาวเทียมมิ.ย. กดราคาขั้นต่ำ-สกัดฮั้วประมูล
มติชน
23 มีนาคม 2564 ( 06:03 )
81
สำนักงานกสทช. ลั่นกลองประมูลวงโคจรดาวเทียมมิ.ย. กดราคาขั้นต่ำ-สกัดฮั้วประมูล

สำนักงาน กสทช.จัดรับฟังความเห็นหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลวงโคจรดาวเทียม คาดบอร์ดกสทช.เห็นชอบเม.ย. ลงราชกิจจาฯพ.ค. พร้อมประมูลปลายมิ.ย.ถึงต้นก.ค. เผยลดราคาขั้นต่ำชุด1และ3สอดคล้องธุรกิจจริง ปรับการยื่นด้านราคาป้องกันฮั้วประมูล ย้ำเมื่อได้ผู้ชนะต้องกติกาชัดต้องไม่เกิดปัญหาสัญญาทางปกครองเช่นเดียวกับทีวีดิจิทัล

 

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด ครั้งที่ 2 เพื่อให้ร่างประกาศฯ สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะเสนอคณะกรรมการกสทช. เพื่อให้ความเห็นชอบปลายเดือนเมษายน หากคณะกรรมการกสทช. เห็นชอบจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจมายื่นขอรับอนุญาตได้ในเดือนมิถุนายน หลังผ่านการพิจารณาประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์แล้ว คาดว่าจะเข้ามายื่นข้อเสนอด้านราคาหรือประมูลได้ภายในปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคม เปลี่ยนผ่านธุรกิจดาวเทียมจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานวันที่ 10 กันยายน 2564

 

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุง คือ การปรับคุณสมบัติของผู้ขอรับอนุญาต เปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความพร้อม ทำให้เกิดการแข่งขัน ปรับลดราคาขั้นต่ำลงให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจจริง ส่งผลต่อราคาขั้นต่ำของการประมูลบางชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 ราคาขั้นต่ำจาก 728.20 ล้านบาท เป็น 676.92 ล้านบาท ชุดที่ 3 ราคาขั้นต่ำจาก 745.57 ล้านบาท เป็น 392.95 ล้านบาท สำหรับชุดที่ 2 และชุดที่ 4 ไม่ปรับราคาขั้นต่ำ โดยชุดที่ 2 ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 366.49 ล้านบาท และชุดที่ 4 ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 364.69 ล้านบาท ส่วนวิธีการคัดเลือกยังคงกำหนด 2 ขั้นตอน ขั้นตอน 1 พิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถดำเนินการ ขั้นตอน 2 พิจารณาข้อเสนอด้านราคา แต่ปรับจากเดิมกำหนดให้ยื่นข้อเสนอด้านราคาในรูปแบบผลประโยชน์ส่วนเพิ่มสูงสุดทีละรอบของแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียม เป็นการยื่นข้อเสนอการประมูลในชุดข่ายงานดาวเทียมพร้อมกันทั้ง 4 ชุด เพื่อเปิดโอกาสให้แข่งขันทุกชุด และป้องกันการสมยอมเสนอราคา (ฮั้วประมูล)

 

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนั้น ยังมีการปรับระยะเวลาและเงื่อนไขในการอนุญาตให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะในชุดที่ 2 ข่ายงาน A2B ที่เป็นของดาวเทียมไทยคม 5 เดิม ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องไม่ส่งผลกระทบหรือรอนสิทธิข่ายงานที่ดาวเทียมไทยคม 6 และ 8 ใช้อยู่ เนื่องจากอยู่ในวงโคจรเดียวกัน และเงื่อนไขระยะเวลาที่จะได้รับสิทธิในชุดที่ 3 ข่ายงาน IP1 จะได้รับหลังจากอายุวิศวกรรมของดาวเทียมไทยคม 4 (IP Star) สิ้นสุด เพื่อไม่ให้ผู้ชนะในการประมูลครั้งนี้โดนรอนสิทธิหรือมีปัญหาสัญญาทางปกครองเช่นเดียวกับทีวีดิจิทัลที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้มีผู้ได้รับการอนุญาตทั้ง 4 ชุด เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรของประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง