คนไทยหลายชุมชนมีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต ชาวบ้านเกาะเทโพแห่งจังหวัดอุทัยธานีก็เช่นกัน คนที่นี่อยู่บ้านเรือนแพ และใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง จึงกำเนิดอาชีพหลากหลายที่อาศัยแหล่งน้ำในการทำมาหากิน บทความนี้จะพาไปรู้จักอาชีพพิเศษอาชีพหนึ่ง คือ การขึ้นคานเรือเพื่อซ่อมบำรุง เป็นอาชีพเก่าที่เริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา ในแถบลุ่มแม่น้ำสะแกกรังนั้นพบได้แห่งเดียว คือ บ้านโรงน้ำแข็ง หมู่ 5 ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ที่จัดคงอนุรักษ์การซ่อมเรือแบบดั่งเดิมไว้อภิสิทธิ์ ชูแก้ว ผู้ใหญ่บ้านโรงน้ำแข็ง ได้เล่าถึงอาชีพขึ้นคานเรือ ดังนี้การขึ้นคาน คือ เอาเรือขึ้นมาวางบนคานเพื่อซ่อมบำรุง โดยการเข้าไม้ใหม่ซ่อมส่วนที่ผุพัง ซ่อมแซมกรงต่อ และทำสีเรือตกแต่งใหม่ให้สวยงามตามที่ลูกค้าสั่ง บางครั้งมีแต่ตัวเรือเปล่า อู่ขึ้นคานบ้านโรงน้ำแข็งก็ออกแบบเรือให้ ทำหลังคาเป็นทรงเรือนไทย 2 ชั้น วางเครื่องสุขภัณฑ์พร้อมเครื่องปั่นไฟอำนวยความสะดวก เรือที่มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเรือนำเที่ยว เรือร้านอาหาร จึงต้องพิถีพิถันให้เกิดความสวยงามเป็นพิเศษนอกจากเรือท่องเที่ยวที่มีโครงสร้างเป็นไม้แล้ว ที่นี่ยังรับซ่อมเรือเหล็กที่ใช้ขนส่งสินค้าด้วย เรือบางลำใช้งานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป จึงค่อยนำมาซ่อมบำรุง เรือที่ซ่อมแซมจะใช้ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้แดง หรือไม้มะค่าซ่อมตัวเรือ ส่วนโครงหลังคาใช้ไม้ประดู่แดง และใช้ไม้อัดกันน้ำทาแลคซีนทำพื้นหลังคา โดยต้องเคลือบตีขอบไม้เพื่อกันน้ำฝนและยืดอายุการใช้งานได้นานเป็น 10 ปี เรือเหล็กจะซ่อมแซมได้ง่ายกว่าเรือไม้ เนื่องจากเหล็กตัดแล้วเชื่อมใหม่ได้ แต่ไม้ตัดขาดแล้วขาดเลย จึงต้องใช้ความแม่นยำสูง เมื่อขึ้นคานเสร็จแล้วก็ลากเรือลงน้ำ โดยใช้สาลี่รองฐานเรือแล้วลากลงไป เวลานำเรือขึ้นคานก็ใช้สาลี่ลากขึ้นมาเช่นเดียวกันอภิสิทธิ์ ชูแก้ว กล่าวว่า ผมมาทำอู่ขึ้นคานเรือต่อจากพี่ชาย เขาเลิกทำผมก็มาสานต่อ เพราะแถวนี้ยังมีเรืออยู่มาก แล้วถ้าผมไม่ทำ เรือพวกนี้ก็ไม่รู้จะขึ้นคานที่ไหนก็ต้องให้ผุไป ผมถือว่าช่วยเขาแล้วก็ช่วยตัวเองด้วย ได้อนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมไว้ เดี๋ยวนี้หายากนะครับเรือไม้มีแต่เรือเหล็กอาชีพขึ้นคานเรือนั้นต้องใช้ทักษะทางช่างชั้นสูงหลายด้าน ต้องผ่านการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ เพราะการซ่อมแซมเรือใหญ่นั้นยากและมีความเสี่ยง สำหรับเจ้าของเรือคงไม่มีใครอยากให้ยานพาหนะเลี้ยงชีพที่เคยโลดแล่นบนผืนน้ำได้อย่างอิสระต้องถูกปลดระวาง การซ่อมแซมเพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุดจึงสำคัญอย่างมาก เป็นเหตุผลให้อู่ขึ้นคานเรือบ้านโรงน้ำแข็งยังดำเนินต่อไป และภูมิปัญญาอาชีพดั้งเดิมนี้ยังถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ : อภิสิทธิ์ ชูแก้ว ผู้ใหญ่บ้านโรงน้ำแข็ง หมู่ 5 ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานีหมายเหตุ ภาพถ่ายโดยผู้เขียน