รีเซต

กรมชลประทานเฝ้าระวังลุ่มน้ำยัง ระดับน้ำสูงขึ้น หลังมีฝนตกชุกในพื้นที่

กรมชลประทานเฝ้าระวังลุ่มน้ำยัง ระดับน้ำสูงขึ้น หลังมีฝนตกชุกในพื้นที่
มติชน
26 กรกฎาคม 2564 ( 17:27 )
17
กรมชลประทานเฝ้าระวังลุ่มน้ำยัง ระดับน้ำสูงขึ้น หลังมีฝนตกชุกในพื้นที่

กรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก หลังมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุ “เจิมปากา” ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุ “เจิมปากา” ส่งผลให้มีฝนตกชุกหลายพื้นที่ในช่วงสัปดาห์นี้ ส่งผลดีทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น รวมไปถึงปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ได้เน้นย้ำให้ทำการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด โดยปรับแผนการระบายน้ำอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกลงมา เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

 


 


สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยัง หลังมีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำจังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแม่น้ำยังที่สภาพของลำน้ำมีความลาดชันสูง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน (26 ก.ค. 64) สถานีวัดน้ำท่า E.70 อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ระดับน้ำวัดได้ 5.68 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.32 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 221.37 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น , สถานีวัดน้ำท่า E.92 อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด วัดระดับน้ำได้ 8.46 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 0.34 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 177.48 ลบ.ม./วินาที ภาพรวมของแม่น้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เตรียมพร้อมตัดยอดน้ำในลำน้ำยัง โดยใช้ประตูระบายน้ำ(ปตร.)บุ่งเบ้า, ปตร.กุดปลาเข็งและปตร.บ้านบาก ที่สร้างไว้เป็นตัวควบคุมปริมาณน้ำ ให้ไหลเข้าไปเก็บยังแก้มลิง 3 แห่ง ได้แก่ บึงบ่อแก บึงเกลือ และกุดปลาคูณ ความจุเก็บกักรวม 30 ล้าน ลบ.ม. ตัดยอดน้ำได้ในอัตราประมาณ 10-20 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณวันละ 0.8-1.7 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำไว้ในพื้นที่จุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ประสานการบริหารจัดการน้ำร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 7 โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนยโสธร-พนมไพร จังหวัดยโสธร จากเดิมระบายวันละ 20.7 ล้าน ลบ.ม. (240 ลบ.ม./วินาที) เป็นวันละ 28.3 ล้าน ลบ.ม. (327 ลบ.ม./วินาที) เพื่อเร่งระบายน้ำจากลำน้ำยัง พร้อมทั้งเดินเครื่องผลักดันน้ำ 16 เครื่อง ช่วยเร่งการระบายน้ำไปลงแม่น้ำชีให้เร็วที่สุด

 

 

อนึ่ง กรมชลประทาน ยืนยันความพร้อมของอาคารชลประทานทุกแห่ง สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ และบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเดินหน้าประชาสัมพันธ์ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน เพจ facebook กรมชลประทาน หรือ โทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง