ลองมาเดาดูไหม ว่าคนรุ่นไหนในสังคมอุดมภาพลวงตานี้ “เหงา” ที่สุด นี่นึกแบบคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ว่า มันต้องเป็น “วัยเกษียณ” ชัวร์ๆ ผิด! เขวี้ยงภาพในความคิดประเภทคุณตาคุณยายนั่งมองเหม่อไร้จุดหมายในบ้านบางแคทิ้งลงพื้นเลยจ้า เพราะผลสำรวจของซิกน่า (Cigna) ฟันเปรี้ยงออกมาแล้วว่า คนรุ่นที่ “เหงา” ที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือกลุ่มคนที่อายุ 18 บวก ตอกย้ำด้วยผลสำรวจของ YouGov ที่คอนเฟิร์มแล้วว่า อเมริกันชนที่ “เหงา” แซงหน้าคนรุ่นคุณปู่คุณย่า (Baby Boomers) และรุ่นคุณลุงคุณป้า (Generation X) ไปแล้วคือกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) ที่มีวัยอยู่ในระหว่าง 23-38 ปี เรียกว่าเปอร์เซ็นต์ความโดดเดี่ยวในจิตใจ แซงหน้ารุ่นใหญ่อย่างไม่เกรงอาวุโส 30% ของคนรุ่นนี้พูดเต็มปากว่า “เหงา” หนึ่งในห้าของคนหนุ่มคนสาวบอกว่า “ไม่มีเพื่อน” 27% บอกว่าเพื่อนก็พอมี แต่ที่จะเรียกว่า “มิตรแท้” นั้นเป็นศูนย์ ฟังแล้วงวยงงสงสัย มันจะเหงาได้ยังไงในเมื่อวัยหนุ่มสาวเหล่านี้มี “เพื่อน” ในโซเชียลกันคนละเป็นร้อย โทษทีเถอะโซเชียลนี่ล่ะสาเหตุ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง “เวลาที่ใช้ไปกับโซเชียลมีเดีย” กับ “ระดับความรู้สึกไม่ดี” นักวิจัยถึงกับสรุปว่า ยิ่งใช้เวลากับโซเชียลน้อยลงเท่าไหร่ ระดับความซึมเศร้าและความเหงาของคนรุ่นใหม่ ก็ยิ่งลดลงมากเป็นเงาตามตัว ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า “ความเหงา” ต่างจาก “การอยู่คนเดียว” เพราะคนอยู่คนเดียวอาจจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ความเหงาไม่ได้ขึ้นกับจำนวนของคนที่อยู่ด้วย เคยไหมที่คุณรุ้สึกกระดี๊กระด๊าในห้องของคุณทั้งที่อยู่คนเดียว แต่รู้สึกโคตรจะโดดเดี่ยวในงานปาร์ตี้ที่มีคนห้าร้อยแต่ไม่มีใครเห็นหัว พูดง่ายๆ ความเหงาจะเกิดขึ้นทันที เมื่อระดับความสัมพันธ์ที่มีต่อสังคมในความคาดหวังของคุณ กับระดับความสัมพันธ์ที่มีต่อสังคมที่คุณได้รับ มันไม่แมทช์กัน เช่น โพสต์เฟซบุ๊คไป แล้วคนกดไลค์เป็น 0 ความรู้สึกของคุณจะตกต่ำและโดดเดี่ยวมากกว่าไม่โพสต์เสียอีก แจ๋มรู้สึกว่าการมีเพื่อนมากๆ คือความยอมรับจากสังคม เมื่อแจ๋มเห็นว่าจ๋อมมีเพื่อนมารุมล้อมเป็นร้อยทุกครั้งที่โพสต์ เทียบกับตัวเองที่มีแต่ญาติมิตรมากดไลค์ แจ๋มก็ย่อมรู้สึกจิตตกอกสั่นไปกับการเปรียบเทียบ เอาดีๆ เรื่องนี้ไม่ใช่จะเกิดแต่ในยุคมือถือเฟื่องฟู ความต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ผู้คนสมัยสุโขทัย ก็คงต้องการให้สังคมกดไลค์เท่ากับสมัยอยุธยา แต่งานเข้าคนรุ่นใหม่ก็เพราะว่า อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมันทำให้เรารู้ปฏิกิริยาของสังคมที่มีต่อเราภายในเวลาอันสั้น นับกันเป็นวินาที ด้วยความเร็วเหนือปีแสงระดับนี้ จึงทำให้รีแอคชั่นต่างๆ เกิดขึ้นทุกวัน พอตอกย้ำวันละหลายๆ รอบ ความเหงาของคนรุ่นใหม่จึงเร็วและแรง แข่งกับสปีดอินเตอร์เน็ต ความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นเมื่อเราตีความความสัมพันธ์กับคนอื่นในทางลบ จนปรากฏเป็น “เสียงนรก” ที่ติเตียนตัวเราเอง เคยไหมสังคมออนไลน์ดึงอารมณ์ดีๆ ให้ตกต่ำ ก่อนจะเช็คโซเชียลอารมณ์เราปกติดี แต่พอเปิด IG ดันหัวร้อนเสียอย่างนั้น จ๋อมเลิกงานเร็ววันศุกร์ ตั้งใจจะกลับบ้านดูซีรี่ส์ แต่มือซนทำให้เธอหยิบมือถือมาไถดูฟีด Facebook แล้วพบว่ายายแจ๋มตัวดีถูก Tag ในรูปล่าสุด นางอยู่ในห้างไฮโซเปิดใหม่ ยืนกอดกันตัวกลมกับเพื่อนสาวที่จ๋อมไม่เคยรู้จัก “ยายนี่ใครทำไมแจ๋มดูสนิทขนาดนี้” “นี่มันเคยคิดจะชวนฉันไปด้วยไหม” “หรือว่าอยู่กับฉันแล้วมันไม่สนุก” “แจ๋มมันแอบไม่ชอบเราหรือเปล่าวะ” “นี่คืนวันศุกร์ คนปกติต้องออกไปแฮงค์เอาท์กับเพื่อน” “มีแต่เราที่ไม่มีคนชวน เรามันไม่มีใครเอา” “ใช่สิเราเป็นคนน่าเบื่อนี่” แต่ความจริงที่จ๋อมไม่รู้ แจ๋มบังเอิญไปเจอเพื่อนเก่าที่เธอไม่สนิทและไม่ชอบหน้า แต่วินาทีที่เพื่อนสาวคนนี้ยกมือถือขึ้นมาเซลฟี่ เหมือนปุ่มออโต้ทำงานทันที แจ๋มยกแขนขึ้นกอดนางโดยอัตโนมัติ วินาทีที่ชัตเตอร์ลั่น แจ๋มคิดในใจว่า “จะแยกตัวออกมายังไงดี คิดถึงจ๋อมจัง รู้งี้ชวนมันมาด้วยดีกว่า” เห็นไหมว่า ความเหงาและโดดเดี่ยวของจ๋อมเกิดขึ้นชั่วเสี้ยววินาที ด้วยการเชื่อมโยงสิ่งที่เห็นในโซเชียลกับการบั่นทอนคุณค่าของตัวเองในความคิด (ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง) รู้เช่นนี้แล้ว สายเหงาก็อย่ายอมง่ายๆ ควรยึดอำนาจการปกครองคืนมาด่วน จะออนไลน์หรือออฟไลน์ ถ้าได้ยินเสียงนรกในใจ “ไม่เห็นมีใครชอบฉันเลย” “ไม่มีใครเห็นหัวฉัน” “ทำไมเพื่อนฉันน้อยกว่าคนอื่น” จงตวาดกลับไป “หยุดนะ นี่มันมโนล้วนๆ สิ่งที่เห็นอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด” จ๋อมจะดูซีรี่ส์ก็จงดู อย่าได้หวั่นไหวจนรังแกตัวเองว่าไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ แต่เพราะรูปในโซเชียล “ฉันจะดูซีรี่ส์ ฉันทำสิ่งที่ตัวฉันต้องการ ใครจะไปไหนไม่สัมพันธ์อะไรกับชีวิตฉัน” เลิกปล่อยให้การเชื่อมโยงทางลบของสมองครองพื้นที่ความรู้สึก จงท้ารบและไล่เสียงนรกที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงออกไปจากชีวิตให้ไว เพราะคนแข็งแรงทางความคิด จะเป็นสุขอยู่ในทางเลือกของตัวเอง คนที่เคารพชีวิตตัวเอง นับถือความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง อยู่ที่ไหนก็ไม่เคยรู้สึกเหงา เผื่อว่าวันหนึ่งเมื่อนักวิจัยมาถามว่า “เคยรู้สึกเหงาบ้างไหม” คุณจะได้ถามกลับไปใสๆ ว่า “เหงาคืออะไรไม่เห็นรู้จักเลย” เครดิตภาพ : Pixabay Image by Thomas Ulrich from Pixabay Image by Manfred Antranias Zimmer from Pixabay Image by Steve Buissinne from Pixabay