รีเซต

กรมการแพทย์ระบุติดโควิดไร้อาการ เข้าระบบ HI ไม่ต้องกินฟาวิพิราเวียร์

กรมการแพทย์ระบุติดโควิดไร้อาการ เข้าระบบ HI ไม่ต้องกินฟาวิพิราเวียร์
TNN ช่อง16
18 มกราคม 2565 ( 14:23 )
53
กรมการแพทย์ระบุติดโควิดไร้อาการ เข้าระบบ HI ไม่ต้องกินฟาวิพิราเวียร์

วันนี้ ( 18 ม.ค. 65 )จากกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งได้เข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) และส่วนหนึ่งได้รับการรักษาในฮอสปิเทล ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อที่อยู่บ้านได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงฮอสปิเทลบางแห่งมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ แต่บางแห่งไม่ให้  จึงเกิดข้อสังเกตว่าผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่

ล่าสุด นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ว่า สามารถเข้ารักษาที่บ้าน (Home Isolation) ได้โดยติดต่อที่ 1330 หรือไลน์ @nhso สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จะเป็นผู้รับเรื่อง แล้วจับคู่กับโรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านผู้ติดเชื้อ

-ตามไกด์ไลน์ของกรมการแพทย์ เมื่อผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษาที่บ้าน แพทย์จะต้องเทเลเมด พูดคุย ซักถามอาการวันละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินอาการ

-หากไม่มีอาการ ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์

-แต่หากเริ่มมีอาการที่อาจเปลี่ยนแปลงไปก็จะต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ทันที

-ส่วนคำว่ามีอาการน้อย หรือมีอาการ ให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์หน้างานที่คุยกับผู้ป่วย

-ย้ำว่า หากเป็นผู้ที่เริ่มมีอาการแล้วดูเหมือนจะเทิร์นไป ก็ต้องจ่ายยาเร็ว โดยหลักประเมิน เช่น ผู้ติดเชื้ออายุน้อย ไม่มีโรคร่วม แต่มีอาการไอ เจ็บคอ ส่วนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องรับฟาวิพิราเวียร์ได้ โดยเฉพาะโอไมครอนที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ หากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก มีเพียงเจ็บคอ ไอ หากไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ก็ไม่ได้แปลว่าเชื้อจะต้องลงปอด

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หากไม่มีอาการ เช่น ไอ เจ็บคอ ผู้ป่วยแข็งแรง ไม่มีโรคร่วม ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งถ้าเข้าระบบ HI ก็จะมีแพทย์เทเลเมดทุกวัน เพื่อติดตามอาการ

ด้าน นายแพทย์ เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เผยถึงการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ครบ 10 วัน แต่ยังตรวจ ATK พบเชื้อโควิดอยู่ว่า ตามหลักการรักษาระยะเวลา 10 วันแล้ว มีบางท่านที่ตรวจก็สามารถตรวจพบเชื้อได้อยู่ 

ซึ่งแนวทางตามเวชปฏิบัติระบุว่าเมื่อรักษาครบ 10 วัน ไม่ได้มีข้อแนะนำว่าต้องตรวจแล้วผลเป็นลบถึงจะเรียกว่าหาย เพราะว่าการรักษาครบจุดสำคัญคือ พ้นระยะเวลาที่จะแพร่เชื้อต่อได้ 

นายแพทย์ เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ในการตรวจหาเชื้อ ในการศึกษาทั่วโลกพบว่านับตั้งแต่การตรวจเจอเชื้อ ผ่านไปสูงสุดที่ 8 – 9 วัน ก็จะพบเชื้อได้ แต่เชื้อไม่มีชีวิตแล้ว เป็นเชื้อตายแพร่ต่อไม่ได้แล้ว บางคนก็ตรวจเจอซากเชื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเจอได้ บางคนอาจตรวจแล้วพบว่าเป็นๆ หายๆ เมื่อวานเจอ วันนี้ไม่เจอ 

ฉะนั้นจะกลายเป็นข้อกังวลเปล่าๆ ดังนั้นข้อแนะนำคือ เมื่อรักษาครบก็ถือว่าหาย แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อหายแล้วยังคงต้องปฏิบัติตนเองแบบการป้องกันแบบครอบจักรวาลอยู่

ด้าน นายแพทย์ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตอบคำถามกรณีมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองด้วยชุดตรวจ ATK ที่แต่ละยี่ห้อขึ้นแถบสีแดงในระยะเวลาแตกต่างกัน และมีความเข้มของสีแตกต่างกัน นั้นจะสามารถบอกปริมาณเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ ระบุว่า ชุดตรวจ ATK สามารถบอกปริมาณเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ระดับหนึ่ง หากแถบสีแดงขึ้นมาชัดเข้ม หรือขึ้นมาค่อนข้างเร็ว ก็แสดงว่าเชื้อที่ตรวจมีโปรตีนไวรัสที่เข้มข้นมาก แสดงว่า น่าจะอยู่ในระยะที่มีเชื้อมาก แต่หากเราเปรียบเทียบด้วยวิธีมองเส้น ก็แล้วแต่ตาของแต่ละคน แต่โดยทั่วไป ก็บอกได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่จะวัดออกมาเป็นปริมาณเลย ก็อาจจะยาก

ภาพจาก : AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง