ต้นอ่อมแซบหรือต้นเบญจรงค์ 5 สี เป็นต้นไม้ที่ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับอยู่ในกระถ่างหน้าบ้าน ไม่เคยรู้ถึงสรรพคุณเลยว่ามีประโยชน์ทางสมุนไพรอย่างไรบ้าง ได้แต่มองดูความสวยงามของใบที่เขียวเข้มสมบูรณ์และดอกที่เป็นช่อสวยงามสีขาว พยายามหาให้ครบ 5 สี แต่ก็จะเจอแต่สีขาวเป็นส่วนใหญ่ ยังมีสีเหลือง สีม่วงขาว สีม่วงเข้ม สีชมพู อีกด้วย พอได้รู้ถึงสรรพคุณเท่านั้นแหละ ต้องรีบขยายพันธุ์ให้มาก ๆ ทั้งสวยและมีประโยชน์มากมาย ควรมีไว้ที่บ้านให้เยอะ ๆ อ่อมแซบหรือเบญจรงค์ 5 สี หรือบางที่เรียกว่า ต้นตำลึงหวาน เป็นพืชฤทธิ์เย็น สามารถทานได้ทั้งดอก ใบ ยอดอ่อน นำมาทำเป็นอาหาร เช่น ต้มอ่อมแซบกระดูกอ่อนหมู ต้มจืดอ่อมแซบหมูสับ ใบอ่อมแซบผัดน้ำมันหอย ไข่เจียวใบอ่อมแซบ หรือจะนำไปลวกทานกับน้ำพริก ก็ได้ หรือในหน้าร้อน นำใบอ่อมแซบมาตำหรือขยำกับน้ำ คั้นเอาแต่น้ำมาดื่มช่วยคลายร้อนได้ดี เป็นพืชที่ใช้ในการปรับสมดุลของร่างกายอย่างดี ถ้าอยากให้หอมชื่นใจอาจจะคั้นพร้อมกับใบเตยหอม ก็จะสดชื่นดี สรรพคุณของอ่อมแซบ1. ช่วยฟอกเลือด รักษาโรคไต2. บำรุงสายตา3. ช่วยเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติและช่วยเรื่องระดูขาวในผู้หญิง4. ช่วยบำรุงผิวพรรณ5. แก้ปวดตามข้อ6. แก้ไข้ ถอนพิษร้อนในร่างกาย บำรุงกำลัง7. ช่วยสมานลำไส้8. ช่วยเรื่องการขับถ่าย9. มีฤทธิ์ระงับการอักเสบ10. ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด11. ต้านอนุมูลอิสระ12. ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา การขยายพันธุ์นั้นง่ายมาก แค่หักกิ่งต้นอ่อมแซบ นำใบไปทำอาหารหรือจะนำไปคั้นเป็นน้ำไว้ดื่มคลายร้อนแล้ว ก็นำกิ่งที่เหลือนั้นมาปักใส่ดินได้เลย คอยรดน้ำเช้า เย็น ไม่กี่วันก็จะแตกใบอ่อนแล้ว โตไว ทนแล้งออกดอกตลอดทั้งปี ไม่มีแมลงรบกวน ควรปลูกในที่มีแดดใบจะเขียวเข้ม ต้นไม่สูงมาก ประมาณ 30 - 60 เซนติเมตร เมื่ออยู่รวมกันเป็นพุ่มเวลาออกดอกจะสวยมากต้นไม้ทุกต้นมีประโยชน์ มีคุณค่าของตัวเอง ไม่ใช่แค่วัชพืชที่จะต้องกำจัดให้สิ้นซาก หรือเป็นเพียงแค่ไม้ดอกไม้ประดับอยู่ตามระเบียงบ้าน แต่ถ้าอยู่ตามระเบียงบ้าน นอกจากจะประดับไว้เพื่อความสวยงามก็ยังเป็นการฟอกอากาศให้เราได้สดชื่นเมื่อตื่นมาในยามเช้าได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ แต่ถ้าจะให้ดีต่อตัวเรายิ่งขึ้น ถ้าได้รู้ถึงสรรพคุณและวิธีการนำไปใช้ประโยชน์ของต้นไม้แต่ละต้นที่อยู่แค่หน้าบ้านเรา เราอาจจะได้คลังยาสมุนไพรขนาดย่อม ๆ เลยก็ได้ หรือ อาจจะนำมาเป็นพืชผักในเมนูอาหารใหม่ ๆ ที่ปลอดภัยจากสารพิษอีกด้วย( ภาพปกและทุกภาพโดยผู้เขียน )