รีเซต

เปิดผู้เล่นสำคัญในการประชุมโลกร้อน COP26

เปิดผู้เล่นสำคัญในการประชุมโลกร้อน COP26
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2564 ( 16:09 )
86
เปิดผู้เล่นสำคัญในการประชุมโลกร้อน COP26

กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC นั้นมี 197 ประเทศร่วมลงนาม แต่ก็ยังมีความท้าทายว่าทุกประเทศจะสามารถบรรลุฉันทามติในการแก้ปัญหาสภาพภูอากาศร่วมกันได้อย่างไร


สำนักข่าว Reuters ได้รวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในการประชมสหประชาชาติว่าดเวยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP26 ที่จะเริ่มต้นที่เมืองกลาวโกลว์ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้


◾◾◾

🔴 จีน


ขณะนี้ จีนคือผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่สุดของโลก การกระทำของจีนในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นตัวตัดสินว่า โลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องการลดโลกร้อนได้หรือไม่ ในขณะที่จีนเองก็ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนเช่นกัน โดยพาะฝนที่ตกลงมาในปริมาณมากจนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 300 ราย ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา


เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศแผนว่าจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดในปี 2030 และจะสามารถเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2060


จีนยังให้คำมั่นว่าจะระงับการสนับสนุนโครงการถ่านหินในต่างประเทศ และจะเริ่มลดการใช้ถ่านหินภายในประเทศในปี 2026 อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาการขาดแคลนพลังงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญของจีนเริ่มถกกันว่า จีนอาจยังไม่พร้อมที่จะเคลื่อนไหวอย่างแข็งกร้าวในการแก้ปัญหาโลกร้อน


ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่าประธานาธิบดีสี จะไม่เดินทางมาร่วมประชุม COP26 แต่จะส่งนายจ้าว หยิงหมิน รองรัฐมนตรีสิงแวดล้อมมาแทน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หากไม่มีนายสี โอกาสที่จีนจะประกาศจุดยืนที่หนักแน่นนั้นมีน้อย


◾◾◾

🔴 สหรัฐฯ


ในขณะนี้ สหรัฐฯ คือผู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับสองของโลก ทั้งนี้ ตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยรวมแล้ว สหรัฐฯ คือผู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด


ในปีนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจนำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่การประชุมโลกร้อน หลังอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ทำให้ส่งผลต่อความพยายามของประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


ความตระหนักรู้สาธารณะในสหรัฐฯ ต่อปัญหาโลกร้อนนั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติที่โหมกระหน่ำสู่สหรัฐฯ ทั้งไฟป่า ภัยแล้ง และพายุ


ประธานาธิบดีไบเดนนำสหรัฐฯ กลับสู่ข้อตกลงปารีสและให้คำมั่นว่า ภายในปี 2030 สหรัฐฯ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้

ราว 50-52% จากระดับที่ปล่อยในปี 2005


อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกลับเผขิญกระแสต้านในสภาคองเกรส นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังขาดนโยบายที่เป็นรูปธรรม ปัญหาเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับสหรัฐฯ ในการผลักดันให้จีน อินเดีย และบราซิล ทำอะไรมากกว่านี้


◾◾◾

🔴 สหราชอาณาจักร


สหราชอาณาจักร คือเจ้าภาพการประชุม COP26 ร่วมกับอิตาลี และสหราชอาณาจักรหวังว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการทำพลังงานถ่านหินให้กลายเป็นอดีตไป


ก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และต่อมายังประกาศว่า ภายในปี 2035 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 78% เมื่อเทียบกับระดับปี 1990


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยังเผชิญกับความยุ่งยากใจ เพราะแรงกดดันจากสาธารณะให้รัฐบาลระงับโครงการสำรวจน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือ แต่หากทำเช่นนั้น อังกฤษจะต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลงมากขึ้น


◾◾◾

🔴 สหภาพยุโรป


สหภาพยุโรปซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8% ของโลก และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา EU พยายามปล่อยก๊าซลดลงเรื่อย ๆ และตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะลดการปล่อยก๊าซลงอย่างน้อย 55% จากระดับของปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050


ขณะนี้ประเทศสมาขิก EU กำลังเจรจากันเรื่องกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว


EU จะร่วมเจรจาใน COP26 ในฐานะกลุ่ม และคาดว่าปีนี้อียูจะผลักดันให้ที่ประชุม COP26 ออกกฎระเบียบให้นานาปะเทศตั้งเป้าหมายที่เข้มข้นกว่านี้ทุก ๆ ห้าปี


◾◾◾

🔴 กลุ่มประเทศพัฒนาน้อย หรือ LDCs


LDCs มีสมาชิกคือประเทศที่ยากจนที่สุด 46 ประเทศแต่มีประชากรรวมกันหนึ่งพันล้านคน อยู่ในแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และแคริเบียน ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งๆที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยสุด


คาดว่ากลุ่ม LDCs จะผลักดันให้กลุ่มชาติร่ำรวยต้องทำตามพันธสัญญาในการจัดสรรงบประมาณปีละหนึ่งแสนล้านดอลลาร์เพื่อช่วยชาติกำลังพัฒนาในการแก้ปัญหาและรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มชาติร่ำรวย ยังไม่สามารถทำตามเป้าหมายนี้ได้


◾◾◾

🔴 กลุ่มประเทศทั่วไป


บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย และจีน อยู่ในกลุ่มดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มนี้มีประชากรรวมกันมากที่สุดและมีเศรรษฐกิจที่กำลังพัฒนา จึงทำให้มีการสร้างมลพิษมาก


แต่ละประเทศเรียกร้องให้กลุ่มชาติร่ำรวยจัดสรรงบในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงให้มากกว่านี้ และเรียกร้องให้ใช้หลักการของความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่า ชาติร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมาก ต้องรับผิดชอบต่อปัญหานี้มากกว่าชาติอื่น ๆ


ที่ผ่านมา อินเดียระบุว่า งบประมาณหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ต่อปีนั้นไม่เพียงพอ และอินเดียไม่น่าจะรับปากได้ว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ภายในปี


2050 ขณะที่บราซิล ต้องการเงินชดเชยในการยุติการตัดไม้ทำลานป่าแอมะซอน ส่วนแอฟริกาใต้ ต้องการหลักฐานที่ชัดเจนกว่านี้ว่าประเทศร่ำรวยจะช่วยเรื่องงบประมาณตามที่สัญญาและมองว่างบควรจะต้องสูงไปถึง 7.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีด้วยซ้ำ


ทั้งนี้ การประชุม COP26 ยังมีอีกหลายกลุ่มที่เข้าร่วมหารือด้วย ทั้งภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านนี้ ตลอดจนพันธมิตรต่าง ๆ ที่หลายชาติรวมกลุ่มกันเอง เพื่อต่อรองในการเจรจา เช่น กลุ่มพันธมิตรชาติหมู่เกาะ กลุ่มชาติเสี่ยงต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และพันธมิตรเปลี่ยนผ่านพลังงานถ่านหิน เป็นต้น

—————

เรื่อง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Hoshang Hashimi / AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง