รีเซต

โควิด-19 : ระดับมลพิษในอากาศเกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาหรือไม่

โควิด-19 : ระดับมลพิษในอากาศเกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาหรือไม่
บีบีซี ไทย
21 เมษายน 2563 ( 08:54 )
151

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกชี้ ระดับมลพิษทางอากาศสูงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการหนัก ขณะที่งานวิจัยอีกสองชิ้นที่ทำขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างระดับมลพิษทางอากาศกับอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาไว้เช่นกัน

 

"ประเทศไหนที่มีระดับมลพิษสูง แผนรับมือกับโรคโควิด-19 ของพวกเขาต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ว่ามลพิษทางอากาศจะทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นด้วย" ดร.มาเรีย ไนรา ผู้อำนวยการหน่วยงานสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก บอกกับบีบีซี

CLAUDIO REYES

 

เธอบอกว่ากำลังวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย และนำข้อมูลขององค์การอนามัยโลกมาจัดทำแผนที่เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำข้อมูลไปใช้ประกอบการทำแผนรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแนวทางนี้

 

Eduardo Munoz Alvarez
วิทยาลัยสาธารณสุข ที.แอช. ชาน ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด พบว่า ในที่ที่มีอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 หนาแน่น อัตราการเสียชีวิตของคนจะสูงกว่า

บุคลากรทางการแพทย์เห็นพ้องกันว่ายังเร็วไปที่จะสรุปว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างระดับมลพิษอากาศที่สูงกับโรคโควิด-19 แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบางประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงบอกว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางคนที่ป่วยด้วยโรคจากมลพิษอากาศอยู่เดิม กลายเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก

 

MARCO BERTORELLO
งานวิจัยอย่างน้อยสองชิ้นชี้ว่ามลพิษอากาศเชื่อมโยงความเสี่ยงตายจากโควิด-19

การตายจากมลพิษทางอากาศ

องค์การอนามัยโลกประเมินว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราว 7 ล้านคน ธนาคารโลกระบุว่า หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบอยู่ในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ประเทศแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา

 

องค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พบว่าประเทศลาตินอเมริกาอย่าง ชิลี เม็กซิโก และเปรู ก็มีระดับมลพิษอากาศในระดับที่อันตรายด้วย

 

งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเรื่องผลกระทบในระยะยาวของมลพิษทางอากาศ ชี้ว่า การเพิ่มระดับของอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในช่วงหลายปีก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของคนในพื้นที่นั้น ๆ ราว 15 เปอร์เซ็นต์

 

งานวิจัยนี้ศึกษาพื้นที่เกือบทั้งหมดในสหรัฐฯ ใช้ข้อมูลมลพิษทางอากาศและสำมะโนประชากรทั่วประเทศ นำมาวิเคราะห์ควบคู่กับจำนวนผู้เสียชีวิตที่เก็บข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ วิทยาลัยสาธารณสุข ที.แอช. ชาน ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด พบว่า ในที่ที่มีอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 หนาแน่น อัตราการเสียชีวิตของคนจะสูงกว่า

 

Hindustan Times
อินเดียเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดประเทศหนึ่ง

งานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ แต่ ศ.แอนเน็ตต์ ปีเตอร์ส ผู้อำนวยการสถาบันระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิเลียน ในเยอรมนี บอกกับบีบีซีว่าการวิเคราะห์นี้มีความเป็นไปได้และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตของผู้ป่วยอาการปอดบวม

 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซียนาในอิตาลีและมหาวิทยาลัยออร์ฮุสในเดนมาร์ก ทำการวิจัยโดยเจาะพื้นที่ทางตอนเหนือของอิตาลีโดยเฉพาะ งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์ไซแอนส์ ไดเร็ก (Science Direct) ชี้ว่า ควรจัดให้ระดับมลพิษทางอากาศที่สูงทางตอนเหนือของอิตาลีเป็นปัจจัยหนึ่งของการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

 

ตัวเลขทางการของอิตาลีชี้ว่า ถึงวันที่ 21 มี.ค. การเสียชีวิตที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในแคว้นลอมบาร์ดีและแคว้นเอมิเลีย-โรมานญา มีราว 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับที่อื่น ๆ ในอิตาลีที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์

 

Mario Tama
องค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พบว่าประเทศลาตินอเมริกาอย่าง ชิลี เม็กซิโก และเปรู ก็มีระดับมลพิษอากาศในระดับที่อันตราย

อากาศในประเทศที่กำลังพัฒนา

องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ร้อยละ 90 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในที่ที่ระดับมลพิษแย่เกินกว่าขีดจำกัดที่แนะนำไว้ และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ก็เป็นคนในประเทศยากจน

ผู้เชี่ยวชาญทั้งในฟิลิปปินส์และอินเดียต่างก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่การเสียชีวิตของคนไข้โควิด-19 จะเชื่อมโยงกับระดับมลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่

ศ.ศรีนาธ เร็ดดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขอินเดีย มองว่า หากมลพิษทางอากาศทำลายระบบทางเดินหายใจและเยื่อปอดแล้ว ร่างกายก็จะต่อสู้กับไวรัสโคโรนาได้น้อยลง

อย่างไรก็ดี หน่วยงานสาธารณสุขอินเดียยังบอกว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปเรื่องนี้

 

โรคซาร์สและมลพิษทางอากาศ

เมื่อปี 2002 โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) ซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดอยู่ตอนนี้ ได้แพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 คน และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 800 คน

 

งานวิจัยจากปี 2003 โดยวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (ยูซีแอลเอ) ของสหรัฐฯ พบว่า คนที่เป็นโรคซาร์สมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่าธรรมดา 2 เท่าหากอาศัยอยู่ในที่ที่ระดับมลพิษทางอากาศสูง

 

ระดับมลพิษทางอากาศลดลงในช่วงที่ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็จะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อคลายมาตรการต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง