เพลงเพื่อชีวิต เกิดขึ้นมาครั้งแรกในไทยเมื่อพุทธศักราช 2480 โดยเริ่มแรกยังไม่ใช้คำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” แต่จะเป็น “เพลงชีวิต” ถูกประพันธ์และขับร้องโดยอาจารย์แสงนภา บุญราศรี เนื้อเพลงจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความยากลำบาก เช่นเพลง “คนปาดตาล” ที่เล่าถึงอาชีพหนึ่งที่มีหน้าที่ปีนไปบนต้นตาลเพื่อนำน้ำตาลลงมา และเพลงอื่น ๆ จากหลากหลายอาชีพอย่าง คนลากรถขยะ, คนจรหมอนหมิ่น, ลูกศิษย์วัด, นักหนังสือพิมพ์, กุลีท่าเรือ, ทหารกองหนุน ฯลฯ แต่เพลงเหล่านี้ก็ไม่ได้รับความนิยมมากในยุคนั้น เป็นเพราะเทคโนโลยีการบันทึกเสียงและการกระจายเสียงที่ยังไม่แพร่หลาย ทำให้เพลงชีวิตค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลา จนถึงยุคแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นช่วงเวลาที่คำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ถือกำเนิดขึ้น จากการที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เขียนบทความ “ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน” ขึ้นในคุกช่วงที่ถูกจองจำเป็นนักโทษการเมือง โดยเพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นจะมีเนื้อหาเรียกร้องประชาธิปไตย แนวดนตรีจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปินตะวันตกส่วนมาก และช่วงนี้เป็นช่วงที่วงคาราวาน วงดนตรีเพื่อชีวิตที่เป็นต้นแบบให้กับหลาย ๆ วงเกิดขึ้นมาอีกด้วย อย่างเช่นวง คาราบาว, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, แฮมเมอร์, มาลีฮวนน่า ฯลฯ ซึ่งวงดนตรีเหล่านี้เกิดขึ้นและมีชื่อเสียงในช่วงหลังจากผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองไปแล้ว โดยศิลปินกลุ่มนี้นอกจากจะมีเพลงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง เนื้อหาของเพลงยังล้อกันในเรื่องสภาพเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงานและระบบทุนนิยมที่ค่อย ๆ มีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทย[1] ดังนั้นเพลงเพื่อชีวิตจึงเหมือนเป็นเครื่องบันทึกทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของสภาพความเป็นอยู่ ระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงนั้น สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฎอยู่ในเนื้อหาของเพลงอยู่แล้ว ศิลปินได้อิทธิพลมาจากช่วงเวลา ณ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงผ่านประสบการณ์และการสังเกตุจนตกตะกอนแล้วจึงนำมาประพันธ์เพลง เช่น เพลง “ลุงขี้เมา - วงคาราบาว” ที่พูดถึงชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องย้ายตนเองเข้ามาหางานทำในเมือง เนื่องจากแหล่งที่ทำกินเดิมคือชนบทไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพออีกต่อไป การศึกษาเรื่องราวเบื้องหลังบทเพลงเหล่านี้จึงเหมือนได้ศึกษาสภาพเศษฐกิจไทยในหลาย ๆ ด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำ การขยายตัวของสังคมเมืองไปจนถึงลักษณะของโลกานุวัตรในสังคมไทย ว่ามีที่มาอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนและปัจจุบันจะถูกพูดถึงอย่างไร เพลงเพื่อชีวิตกับความยากจนในอดีต เกษตรกรเป็นอาชีพที่เพลงเพื่อชีวิตพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยจะเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต จากเดิม เคยประกอบอาชีพในภาคเกษตรเป็นหลัก ต้องเข้ามาทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรมในเมืองโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากสถิติแล้ว แรงงานในภาคเกษตรลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากปีพ.ศ.2533 ที่มีแรงงานอยู่ร้อยละ 63.3 แต่ในปีพ.ศ.2555 กลับเหลือเพียงร้อยละ 42.1 หรือจำนวนลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 150,000 คนต่อปี ขณะที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ [3] เพลง “เจ้านาย” ของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เช่นเดียวกันวิถีชีวิต บัดนี้มาเปลี่ยนไปจากเคยสบายกลับกลายเป็นเร่งร้อนเข้าทำงานเป็นกะเป็นเวลาชุดชาวนามาเปลี่ยนเป็นแบบฟอร์มกลิ่นไอดินไอหญ้าเคยดมดอมเปลี่ยนเป็นสารเคมีจากปล่องควันร้อนๆ ซึ่งเพลงนี้ได้ถูกประพันธ์และเผยแพร่ในปีพ.ศ.2537 เป็นช่วงหลังจากที่รัฐบาลได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-พ.ศ.2529)และฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-พ.ศ.2534)[2] โดยมีในโยบายมุ่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยการนำความเจริญเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้ก้าวเข้าสู่ประเทศกึ่งอุตสาหกรรม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในขณะนั้นขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ฐานะการเงินของประเทศดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท อาชีพเกษตรกรยังเป็นอาชัพที่มีรายได้ต่ำเหมือนเดิม รองลงมาคือผู้ใช้แรงงาน ชาวนาที่เป็นอาชีพส่วนใหญ่ของเกษตรกรต้องประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ภาระหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่ต้องทำการผลิตและเก็บเกี่ยวให้ได้มากกว่าเดิม การพึ่งพาธรรมชาติและการอาศัยแรงงานคนและสัตว์ไม่เพียงพออีกต่อไป จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เข้ามาพร้อมระบบทุนนิยม หรือพูดอีกอย่างคือความสัมพันธ์ของระบบการผลิตเพื่อยังชีพได้เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ของการผลิตเพื่อตลาดแทน เพราะตลาดมีผลกระทบต่อราคาและผลผลิตในภาคเกษตรอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่การเปลี่ยนจากอาชีพเกษตรกรมาเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานก็ใช่ว่าจะสร้างความมั่นคงทางรายได้ได้ทีเดียว เพราะขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างว่าต้องการจ้างต่อหรือไม่ และภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกินตัว ดังเช่นที่ปรากฎอยู่ในเพลง “คนหนังเหนียว” ของคาราบาวประตูโรงงานปิดแล้วตัวเราก็ถึงคราวหมองหม่นหนทางมืดมนจะมีกี่คนมาเข้าใจเห็นใจอยู่เพื่องาน ทำเพื่อเงินเดือนละไม่เท่าไรไม่พอยาไส้เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ...เป็นกรรมกรเร่ขายแรงงานนั้นมันแสนลำบากชีวิตทุกข์ยาก ค่าหยูกค่ายาค่าโน่นค่านี่ ค่าน้ำค่าไฟบ้านต้องเช่าละค่าข้าวค่าเหล้าแล้วจะเหลืออะไรล่ะสิ้นเดือนสุดท้ายจะให้ทำยังไงเพราะเขาเลิกจ้างแล้ว...อยากตัดใจหวลกลับคืนสู่บ้านนาก็หมดปัญญาเขาแย่งที่นาไปแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนก็เป็นอีกประการหนึ่งที่เพลงเพื่อชีวิตพยายามนำเสนอ ซึ่งถ้าหากมองดูการกระจายรายได้ของไทยในภาพรวมจะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำกันมากในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 – 8 (พ.ศ.2530 – 2544) สอดคล้องกับงานวิจัยส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2545) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2545) ที่ยอมรับว่าการกระจายรายได้ของไทยสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน[4] และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่เทียรี่ เมฆวัฒนา ได้ประพันธ์เพลง “สาวดอยสอยดาว” ที่สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของฐานะทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจน โดยมีสาวดอยเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานหนัก แต่กลับมีรายได้ไม่เทียบเท่าสาวดาว ตัวแทนของผู้มีฐานะรวยกว่า สามารถใช้เงินเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตได้แม้ไม่ต้องทำงานหนักสาวดอยเธอทิ้งทุกสิ่งเข้ากรุงจะไปหางานทำ สาวดาวจะไปสอยดอยเป็นริ้วรอยของความสุขใจสาวดาวเธอจะซื้อบ้านใหม่พักผ่อน ให้หายร้อนกาย สาวดาวจะไปสอยดอยแต่สาวดอยจะไปสอยดาวเป็นเรื่องเล่าของความไม่เท่าในสังคมชีวิตคนเรา สาวดาวมีเงินซื้อดอยแต่สาวดอยไม่มีสิทธิ์ซื้อดาว สาวดาวปลูกบ้านบนดอยเฝ้าคอยเนรมิตทุกสิ่ง แต่สาวดอยทำงานยังกะลิงหนักจริงๆ แค่แลกอาหารกินDesigned by Freepik" /> เพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบันเพลงเพื่อชีวิตที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคมจะมีน้อยลงไปทุกที เหตุเพราะเพลงก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่ต้องพึ่งความต้องการของตลาด ซึ่งต้องการกำไรจากการลงทุน จึงต้องช่วงชิงผลกำไรจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ด้วยกระบวนการทำทุกอย่างให้เป็นสินค้า (Commodification of symbolic goods) โดยการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนั้นให้เป็นสินค้า ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการขายทอดตลาด[5] ทำให้ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเองถูกครอบงำให้ผลิตเพลงเพื่อความต้องการของตลาด มีเนื้อหาเน้นไปที่ความบันเทิงและความรักแทนที่จะเรียกร้องประชาธิปไตยหรือนำเสนอสภาพสังคมอย่างที่เป็นมา แต่ถึงกระนั้นเอง หากวัดที่เจตนาและเนื้อหาของเพลง ไม่ใช่วัดที่กลุ่มศิลปินหรือลักษณะดนตรีแบบเดิม ในปัจจุบันก็ได้มีเพลงเพื่อชีวิตจากศิลปินรุ่นใหม่ ๆ จำนวนไม่น้อย อย่างเช่น “เผิ่นบ่บอก” ของก้อง ห้วยไร่ ที่ได้ประพันธ์เพลงนี้เพื่อให้กำลังใจแรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้างจากการที่โรงงานปิดกิจการ ซึ่งมีมากกว่า 4.75หมื่นคน ในช่วงปลายปีพ.ศ.2652[6]... หอบเสื้อผ้าที่นอนหมอนมุ้งลากรุงมุ่งสู่อีสาน น้ำตามันไหลแต่บ่ได้คิดฮอดบ้านหนุ่มสาวโรงงานเบิ้ดวาสนาเส้นทางขายแฮง ... ...โรงงานปิดเพิ่นไล่ออก เป็นคนกระจอกทั้งยากจนทั้งตกงาน โรงงานปิดเพิ่นบ่บอก ตื่นเซ้าสิลุกไปตอกบัตรเจ้านายเพิ่นบอกให้กลับบ้านเสียเด้อ ... การสะท้อนปัญหาความยากจนของชาวนาและผู้ใช้แรงงานในเพลงเพื่อชีวิตอาจเป็นเพียงแค่แง่มุมหนึ่งในสังคมที่ศิลปินหยิบยกขึ้นมานำเสนอ แต่ปรากฎการต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคาผลผลิตหรือค่าแรง การไม่เอาใจใส่ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากรัฐบาล หรือแม้กระทั้งปัญหาภัยแล้ง ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดการของรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของพื้นฐานเศรษฐกิจขณะนั้นเอง และแม้ในปัจจุบันเพลงเพื่อชีวิตที่สะท้อนเนื้อหารุนแรงแบบเดิมอาจจะหาฟังไม่ได้แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าปัญหาเหล่านั้นจะหมดไป กลับกัน ปัญหาเหล่านั้นยังคงอยู่และไม่ได้รับการแก้ไขแม้จะผ่านมาเป็นทศวรรตแล้วก็ตาม เอกสารอ้างอิง[1] วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย .เพลงเพื่อชีวิต เพื่อชีวิตที่ต้องเดินต่อไป .Online . Available on tkpark.or.th[2] วรุณ ฮอลลิงก้า .การวิเคราะห์เพลงเพื่อชีวิตระหว่าง พ.ศ. 2516 - พ.ศ.2534 .วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2536. หน้า 117 - 118.[3] กรวิชย์ ต้นศรี .แรงงานกับการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรไทย . Online . Available on bot.or.th[4] สุริยะ เจียมประชานรากร . การวิเคราะห์ผลของนโยบายความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีผลต่อการกระจายรายได้ในประเทศไทย ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ถึง 8 ( พ.ศ.2530 – 2544 ).วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.[5] ณัฏฐณิชา นันตา . วาทะกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย ( พ.ศ.2525 - พ.ศ.2550 ). วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2553 . หน้า 276.[6] ธงชัย ชลศิริพงษ์ . คนไทยว่างงานในเดือนพ.ย. 2562 เกิน 4 แสนราย สูงสุดในรอบ 4 เดือน จบมหาวิทยาลัยว่างงานมากที่สุด.Online . Available on brandinside.asiaขอบคุณรูปภาพจาก https://pxhere.com/ และ https://www.freepik.com/ รูปที่ 1 / รูปที่ 2 / รูปที่ 3 / รูปที่ 4บทความโดย NOWAYTOGOHOME