ไทย ให้คำมั่นที่ประชุม COP26 ทุ่มเต็มที่แก้โลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก
วันที่ 2 พฤศจิกายน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในการประชุม COP26 หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งตรงกับเวลา 23.00 น. ของไทย) ณ ศูนย์การประชุม The Scottish Event Campus พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) โดยได้กล่าวถึงการดำเนินงานของประเทศไทยที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำในสิ่งที่ให้คำมั่นไว้กับประชาคมระหว่างประเทศทั้งหมด และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และแข็งขัน ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยกำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี พ.ศ. 2563 แต่ทว่าในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 17 เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดเป็นเป้าหมายไว้ด้วยมากกว่า 1 ปี
“อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดส่ง NDC ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ.2563 จัดทำแผนงานต่างๆ ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ล่าสุดได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำให้กับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ โดยไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์ที่จริงจังของประเทศไทยที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกในเรื่องนี้ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำกับที่ประชุมว่า จะยกระดับดำเนินการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวันนี้ถึงปี พ.ศ. 2573 ลดลงร้อยละ 40 ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutrality) ภายในปีพ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายใน หรือก่อนกว่าปีพ.ศ. 2608 ได้
ทั้งนี้ องค์ประกอบจำเป็นที่หวังอย่างยิ่งว่าจะต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เจตนารมณ์นี้บรรลุเป้าหมายนี้สำเร็จได้คือความร่วมมือกันอย่างจริงใจมากขึ้นของทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาที่จะให้มีการโอนถ่ายเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งกันและกันอย่างเต็มรูปแบบ และมีระบบการเงินสีเขียวมารองรับอย่างเต็มกำลังและเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ทุกประเทศและทุกภาคส่วนจะต้องทำงานร่วมกันต่อไป”นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ร่วมกับภาคีความร่วมมือภาคเอกชน ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) หรือ SCG จัดนิทรรศการ Thailand Pavilion ขึ้น เพื่อนำเสนอแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศไทย (Thailand’s Long – term Greenhouse Gas Emission Development Strategy) และการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของภาคีความร่วมมือภาคเอกชน สำหรับ “Thailand Pavilion ที่จัดขึ้น ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ ในการเข้ามาเยี่ยมชม สอบถาม แลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นจำนวนมาก อีกทั้งภายหลังจากเสร็จสิ้นการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ(World Leaders Summit) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะผู้แทนไทย ได้เดินทางมาเยี่ยมชม Thailand Pavilion ที่จัดขึ้น โดยในการนี้ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคีภาคเอกชน ร่วมให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม พร้อมบรรยายสรุปถึงผลงานที่นำมาจัดแสดง