รีเซต

เหตุสังหาร จนท. บราซิล ด้วยลูกธนู สะท้อนปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ากับคนเมืองและนโยบายรัฐ

เหตุสังหาร จนท. บราซิล ด้วยลูกธนู สะท้อนปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ากับคนเมืองและนโยบายรัฐ
ข่าวสด
18 กันยายน 2563 ( 11:46 )
93
เหตุสังหาร จนท. บราซิล ด้วยลูกธนู สะท้อนปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ากับคนเมืองและนโยบายรัฐ

สิ่งที่ มอยเซส เคมปี จำได้แม่นที่สุดจากเหตุการณ์วันที่ 9 ก.ย. คือเสียงดัง "ตุ้บ"  - BBCไทย

ไม่กี่วินาทีถัดมาเขาถึงตระหนักว่าเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น หัวหน้าของเขา--รีเอลลี ฟรานซิสคาตู ผู้เชี่ยวชาญด้านชนพื้นเมืองชื่อดังชาวบราซิล นอนแน่นิ่งอยู่กับพื้นหลังถูกธนูปักเข้าที่อก และเสียชีวิตในอีกไม่กี่นาทีต่อมา

 

Ricardo Stuckert
ชนเผ่าบางกลุ่มไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

ธนูนี้ยิงโดยชนเผ่าบราซิลที่มีคนเห็นออกมาเดินในเมืองเซอร์ริงเกเรอห์ส (Seringueiras) ซึ่งมีประชากรไม่ถึง 13,000 คน และอยู่ในรัฐรอนโดเนีย หนึ่งใน 9 รัฐที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าฝนแอมะซอน

 

ฟรานซิสคาตูกำลังตามรอยชนเผ่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทำให้กับฟูนไน (Funai) หน่วยงานรัฐที่คอยสังเกตการณ์และปกป้องชนพื้นเมืองในบราซิล

 

"ชนพื้นเมืองเหล่านั้นอาจไม่เคยได้รู้เลยว่าที่จริงแล้วฟรานซิสคาตู เป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของบราซิล"

 

Funai
รีเอลลี ฟรานซิสคาตู ผู้เชี่ยวชาญด้านชนพื้นเมืองคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของบราซิล

บราซิลและอีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ มีกลุ่มชนพื้นเมืองจำนวนมากที่ยังไม่ติดต่อกับโลกภายนอกเลย คาดกันว่าทั่วโลกมีชนเผ่าในลักษณะนี้มากกว่า 100 กลุ่ม โดยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในแถบป่าแอมะซอน

 

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าชนเผ่าเหล่านี้มีประชากรเท่าไร และพูดภาษาอะไรกันบ้าง อย่างในบราซิล มีกลุ่มชนพื้นเมืองที่ได้รับการบันทึกไว้ 305 กลุ่ม และมีภาษาใช้กันมากถึง 274 ภาษา

 

ดังนั้นจึงไม่มีใครรู้อะไรมากเกี่ยวกับชนเผ่าที่เป็นผู้สังหารฟรานซิสคาตู

สมาชิกชนเผ่าที่สังหารเขาอาจจะมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการเผชิญหน้ากับบุคคลภายนอกมาก่อนหน้านี้

"คนเหล่านี้ถูกคุกคามโดยพรานล่าสัตว์ คนตัดไม้ และชาวไร่อยู่ตลอดเวลา พวกเขาไม่มีทางรู้เลยว่าคนภายนอกจะมาคุกคามพวกเขาหรือไม่ ...พวกเขาเห็นเรา เราก็คือผู้รุกราน เราไม่สามารถไปโทษพวกเขาได้เลยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น" เคมปีกล่าว

 

Family album
มอยเซส เคมปี เองก็เป็นชนพื้นเมือง เขาอยู่กับฟรานซิสคาตูในวันเกิดเหตุ

การคุกคามที่เคมปีเล่า ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิชนพื้นเมืองอย่างกลุ่มเพื่อการอยู่รอดนานาชาติ (Survival International) บอกว่า การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ชนเผ่าที่ยังไม่ติดต่อกับโลกภายนอกเลยเสี่ยงที่จะสิ้นเผ่าพันธุ์มากขึ้นทุกที

 

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ชนเผ่าชื่อแมชโค-เพียโร (Mashco-Piro) ซึ่งเคยเก็บตัวตัดขาดจากโลกภายนอก เริ่มออกเดินทางออกจากเขตแดนของตัวเองบ่อยครั้ง และมาถามผู้คนภายนอกว่าหมูป่าที่เป็นอาหารหลักของพวกเขาหายไปไหน

 

ซาราห์ เชนเคอร์ นักวิจัยอาวุโสจากกลุ่มเพื่อการอยู่รอดนานาชาติ บอกว่า ชนเผ่าที่ไม่เคยติดต่อกับโลกนอกเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางมากที่สุดในโลก และถูกผลักให้ใกล้หมดสิ้นเผ่าพันธุ์มากขึ้นทุกที

 

มอยเซส เคมปี เองก็เป็นชนพื้นเมือง โดยเขาใช้ชื่อนามสกุลตามชื่อชนเผ่าตัวเองที่ชื่อ เคมปี ซึ่งปรับวิถีชีวิตมาอยู่ร่วมกับโลกภายนอกนานแล้ว

ชนพื้นเมืองในบราซิลได้รับผลกระทบในเชิงสังคมและเศรษฐกิจเป็นพิเศษ ชนพื้นเมืองในประเทศมีถึง 900,000 คนจากประชากรทั้งหมด 209 ล้านคน โดยชนพื้นเมืองเกือบ 20% อาศัยอยู่ในภาวะยากจนอย่างรุนแรง เทียบกับ 6% ของคนบราซิลทั่วไป

 

เคมปีเองก็ไม่เคยเห็นชนเผ่าที่ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกมาก่อน และธนูที่ยิงมาใส่หัวหน้าเขาในวันเกิดเหตุก็พุ่งออกมาจากป่า

 

Getty Images
ซิดเนย์ พอสส์เวลู อดีตประธานของหน่วยงานฟูนไน

นโยบายห้ามติดต่อ

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 80 เป็นต้นมา หน่วยงานฟูนไน กำหนดนโยบายห้ามไม่ให้คนภายนอกไปติดต่อกับชนเผ่าต่าง ๆ เด็ดขาดเพราะว่าการไปติดต่ออาจเป็นการแพร่โรคภัยทำให้พวกเขาถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ดังนั้น หน่วยงานนี้ก็ทำได้แค่คอยดูร่องรอยของพวกเขาและทำการวิเคราะห์เวลามีคนไปเห็นพวกเขาเข้า

ซิดเนย์ พอสส์เวลู อดีตประธานของหน่วยงานฟูนไน บอกว่าทีมของเขาเคยเข้าไปหาชนเผ่าแอมะซอนชนเผ่าหนึ่งในปี 1979 และแม้ว่าจะระมัดระวังที่สุดแล้ว ท้ายที่สุดก็มีสมาชิกชนเผ่าคนหนึ่งที่ติดหวัดและเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง

 

และคงไม่ต้องย้ำเลยว่าการระบาดของโควิด-19 จะยิ่งทำให้ชนเผ่าเหล่านี้อยู่ในสภาพเปราะบางแค่ไหน

อีกเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมรัฐถึงควรปกป้องชนเผ่าที่ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกคือ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าพื้นที่ที่ชนพื้นเมืองอาศัยอยู่เป็นพื้นที่ที่ป่าถูกทำลายน้อยที่สุด

 

Getty Images
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 80 แล้วที่บราซิลมีนโยบายไม่ให้ติดต่อกับชนพื้นเมืองที่ไม่ต้องการติดต่อกับโลกภายนอก

 

ภัยจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล มีแนวคิดที่จะหาประโยชน์เชิงพาณิชย์จากป่าแอมะซอนมากกว่านี้ และนโยบายดังกล่าวส่งผลต่อดินแดนที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองด้วย

 

เขายังประกาศอีกด้วยว่าจะไม่มีการกำหนดเขตป่าสงวนใหม่ตราบใดที่เขายังดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศอยู่

นอกจากนี้ เขายังสั่งย้ายอำนาจรับผิดชอบเรื่องดินแดนของชนพื้นเมืองจากกระทรวงยุติธรรมไปเป็นของกระทรวงเกษตรอีกด้วย แต่สุดท้ายคำสั่งนี้ก็ถูกศาลฎีกาสั่งระงับ

 

Getty Images
โบลโซนาโรกล่าวว่าต้องการสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์จากป่าแอมะซอนมากกว่านี้ และนโยบายดังกล่าวส่งผลต่อดินแดนที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองด้วย

ฟรานซิสคาตู เป็นที่รู้จักดีในเมืองเซอร์ริงเกเรอห์ส เขาไปผูกมิตรกับคนในพื้นที่เพื่อพยายามจะไม่ให้ชาวไร่และชนเผ่าในพื้นที่ปะทะขัดแย้งกัน

ดูเรียนา เพอเรรา เป็นลูกชาวไร่ที่อาศัยติดกับเขตป่าสงวน เธอเป็นคนที่เห็นชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ขณะพวกเขาเดินเลยเขตป่าสงวนออกมายังสนามหลังบ้านของเพื่อนบ้าน

 

ระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ประกาศห้ามคนท้องถิ่นไปมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกชนเผ่าหากพวกเขาออกมาอีก และเตือนว่า ตามกฎหมายบราซิลแล้ว ไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับกรณีการสังหารผู้เชี่ยวชาญอย่างฟรานซิสคาตู หากว่าผู้กระทำเป็นสมาชิกชนเผ่าที่ไม่เคยติดต่อกับโลกภายนอก

 

"พ่อแม่ฉันอาศัยอยู่ที่นี่มากว่า 25 ปีแต่พวกเขาไม่เคยเห็นชนเผ่าเหล่านี้เลย ...ต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในป่า พวกเขาถึงได้ต้องออกมาที่นี่ แต่เพื่อนบ้านฉันคิดว่ามันเป็นแค่การบุกรุกพื้นที่ของพวกเขา"

 

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ฟรานซิสคาตู ต้องมาเสียชีวิตทั้ง ๆ ที่กำลังพยายามจะทำให้ชนพื้นเมืองและคนจากโลกภายนอกไม่ต้องมาปะทะขัดแย้งกัน