‘เชฟ’ อาจเป็นอาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน รวมถึงฉันด้วย ฉันมีความฝันมากมาย ตั้งแต่เด็ก ๆ ฉันนั่งคิดนั่งถามตัวเองว่าอยากเป็นอะไร อาชีพอะไรที่เราจะทำได้ดี และมีสิ่งใดที่เราชอบและสามารถทำเป็นอาชีพได้ ฉันเอากระดาษมานั่งเขียนความฝันที่อยากทำได้ถึงสิบกว่าอาชีพ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘เชฟ’แต่เนื่องจากฐานะทางครอบครัวของฉันไม่ได้ร่ำรวยนัก การจะเลือกเรียนสายอาชีพในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยง เพราะการประกอบอาชีพเชฟในประเทศไทยไม่ใช่อาชีพที่จะได้เงินเดือนมากพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ดี ฉันจึงตัดสินใจเรียนสายสามัญเพื่อที่จะมีอาชีพที่มั่นคง สุดท้ายฉันก็ตัดสินใจเป็นครูและติวเตอร์ตามสถาบันต่าง ๆ แม้ว่าการเป็นครูจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ฉันบอกกับตัวเองเสมอว่า จะไม่มีทางเป็น เพราะสงสารคุณครูที่เคยสอนตัวเองในอดีตที่ต้องเหนื่อยดูแลนักเรียนจำนวนมาก แต่ด้วยความที่ฉันต้องการฝึกฝนภาษาอังกฤษเพื่อมาใช้ในการสอนมากขึ้น ทำให้ฉันมีโอกาสได้เดินทางไป Work and Holiday ที่ประเทศออสเตรเลียในปี 2016 และนั่นทำให้ฉันได้พบกับอาชีพที่ฉันใฝ่ฝันมานานณ ก้าวแรกที่ฉันเดินทางไปถึงที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ฉันก็ตั้งปณิธานว่าจะทำงานทุกงานที่ทำได้ ซึ่งงานแรกที่ฉันได้โอกาสทำก็คือการเป็น Kitchen Hand หรือเรียกง่ายๆ ว่า ลูกมือนั่นเอง ตำแหน่ง คิชเช่นแฮนด์ เป็นตำแหน่งแรกสุดในการเริ่มต้นทำงานในครัวของทุกคนในออสเตรเลียและหลาย ๆ ประเทศ หน้าที่หลักของฉันคือการจัดเตรียมผักและเนื้อสัตว์ก่อนที่ร้านจะเปิด และทำอองเทร่หรืออาหารเรียกน้ำย่อย ณ เวลาที่ร้านเปิด หรือ เซอร์วิส นั่นเองการทำงานวันแรกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากร้านอาหารที่ฉันไปทำเป็นร้านอาหารไทยที่ค่อนข้างยุ่งมาก พนักงานทุกคนต้องทำงานเร็ว และเรียบร้อย ฉันต้องปลอกและหั่นแครอทจำนวนมากประมาณ 5-10 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากแครอท ก็ยังมีถั่วฝักยาว บล็อกโคลี พริกระฆังเขียวและแดง ซึ่งผักเหล่านี้เป็นผักที่หาง่ายและมีราคาถูกในประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ฉันยังต้องชั่งเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และจัดเตรียมอุปกรณ์และจานให้พร้อมก่อนที่จะเปิดร้าน ทั้งหมดนี้ฉันต้องทำให้เสร็จภายใน 1-2 ชั่วโมง ซึ่งถือว่างานนี้เป็นงานที่ค่อนข้างเหนื่อยและทรหดมาก เพราะร้านที่ฉันทำเป็นร้านอาหารไทยกึ่ง fine dining ซึ่งต้องการความประณีตทุกขั้นตอนเมื่อถึงเวลาร้านเปิด ทุกอย่างก็เริ่มโกลาหล ทุกคนในครัวมีทั้งตำแหน่งผัด แกง ทอด และ สลัด ต่างวิ่งวุ่นและร้องเรียกรายการอาหารตามที่ลูกค้าสั่ง และเวลานั้นมันทำให้ฉันรู้ว่าการทำอาหารไม่ได้ง่ายอย่างที่ฉันคิดฝันไว้ การทำอาหารรับประทานเองที่บ้านหรือทำให้คนที่เรารักทาน มันเป็นเรื่องสนุก แต่เมื่อมาทำงานในร้านอาหารที่ยุ่ง ความกดดันก็ตามมาแต่ถึงกระนั้นฉันก็ยังคงไม่ละทิ้งความฝัน ฉันยังคงทำงานในครัวไทยและต่างชาติโดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีค่าแรงที่สูงกว่าร้านอาหารไทย เป็นเวลาสองปี จนฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียน ทั้งการทำงานอย่างมีระบบระเบียบ การรับผิดชอบต่ออาหารที่เราทำและที่สำคัญคือลูกค้า เนื่องจากที่ประเทศออสเตรเลียมีข้อจำกัดในการเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าเยอะมาก เพราะคนส่วนใหญ่มักจะแพ้ถั่ว แป้ง และธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้รับประทานถึงตายได้ และผู้ประกอบการจะต้องถูกฟ้องจนถึงขั้นปิดร้านได้เลย เมื่อฉันสั่งสมการทำงานได้ถึงสองปีกว่า ฉันก็ได้รับการไว้วางใจจากร้านไทยร้านหนึ่ง ให้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าแม่ครัว ซึ่ง ณ ขณะนั้น ฉันคิดว่ามันเป็นหน้าที่อันหนักอึ้ง เพราะเราจะต้องควบคุมดูแลอาหารทุกจานให้ออกมาถูกต้องสมบูรณ์ อีกทั้งยังต้องดูแลเพื่อร่วมงานคนอื่น ๆ ให้ทำงานไปด้วยความราบรื่น รวมถึงการดูแลจัดการสต๊อกวัตถุดิบต่าง ๆ ให้มีการหมุนเวียนและลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุดขณะนั้นฉันอายุเพียง 28 ปี ฉันคิดว่าโอกาสนี้ยังเร็วเกินไปสำหรับฉัน แต่เจ้านายก็ยังคงสอนและแนะนำการเป็นเชฟที่ดีให้กับฉัน แม้ว่าฉันจะรักการทำอาหารจนอยากเป็นเชฟ แต่เมื่อฉันได้เป็นเชฟจริง ๆ ฉันก็ได้รับรู้ว่า การเป็นเชฟ ไม่ใช่แค่การทำอาหารเป็น หรือทำอาหารอร่อย แต่อาชีพเชฟ หมายถึง คนที่สามารถทำอาหารได้ดี และรู้จักการบริหารงานในครัว ให้การดำเนินธุรกิจอาหารออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ เชฟจะต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า เจ้านายและลูกทีมของตัวเอง ต้องจัดสรรวัตถุดิบออกมาได้คุ้มค่าและบริหารเวลาได้เหมาะสม และที่สำคัญคือต้องรู้จักการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างดีและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างเปิดใจกว้าง ดังที่เชฟเอียนและหม่อมป้อมได้กล่าวไว้ในรายการแข่งขันทำอาหารรายการหนึ่งปัจจุบันฉันเรียนรู้และเข้าใจหัวใจของการเป็นเชฟ ฉันยังคงเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ เพื่อได้อาหารและการบริการที่ดีที่สุด แม้การเป็นเชฟจะเป็นงานที่หนัก แต่ทุกอาชีพก็มีความสำคัญและมีคุณค่าเช่นเดียวกัน เมื่อได้นึกว่าอาหารที่เราทำจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้กับทุกอาชีพในสังคม เป็นทั้งกำลังกายและกำลังใจให้กับทุกคน เท่านี้รอยยิ้มก็ปรากฏขึ้นทุกครั้งเมื่อฉันรู้สึกเหนื่อย เมื่อรู้เช่นนี้แล้วอย่าลืมถามตัวเองนะคะว่าวันข้างหน้า 'คุณฝันอยากทำอะไร' เครดิตภาพ : Patnaree (นักเขียน)