รีเซต

กรมชลฯ ปรับแผนสู้ความเค็มรุกเจ้าพระยา ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมกันประหยัดน้ำ

กรมชลฯ ปรับแผนสู้ความเค็มรุกเจ้าพระยา ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมกันประหยัดน้ำ
มติชน
11 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:14 )
46
กรมชลฯ ปรับแผนสู้ความเค็มรุกเจ้าพระยา ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมกันประหยัดน้ำ

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังจากการลงพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ว่า จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดค่าความเค็มเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่สถานีสูบน้ำประปาสำแลของการประปานครหลวง (กปน.) มีค่าความเค็มสูงกว่าเกณฑ์วิกฤติ ประกอบในช่วงวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์​นี้ จะมีอิทธิพลของลมใต้ทำให้เกิดน้ำขึ้นจากพายุ ส่งผลให้เเม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากอ่าวไทยมีระดับน้ำสูงขึ้น

 

นายสัญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมชลฯ ได้ปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งเเต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์​ เพิ่มจากอัตรา 55 ลูกบาศก์เมตร​ (ลบ.ม.)​/วินาที เป็น 80 ลบ.ม./วินาที ไปจนถึงเช้าของวันที่ 16 กุมภาพันธ์​ เวลา 06.00 น. หลังจากนั้นลดลงเหลือ 45 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนพระรามหก ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์​ จาก 45 ลบ.ม./วินาที เป็น 55 ลบ.ม./วินาที และตั้งเเต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์​ เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป จะเพิ่มการระบายเป็น 70 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์​ เวลา 06.00 น. จากนั้นจะทะยอยลดลงเหลือ 25 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ตอนบน

 

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมค่าความเค็มที่กำหนดไว้ พร้อมขอความร่วมมือประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงสถานีสูบน้ำสำแล ให้งดการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้ เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด โดยเฉพาะชาวเมืองหลวงและปริมณฑลที่ใช้น้ำจาก กปน. เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า