วิจัยพบ 'มนุษย์ยุคบรรพกาล' ในจีน อาจมีสมองใหญ่แบบ 'ไอน์สไตน์'
ทีมงานระหว่างประเทศนำโดยคณะนักโบราณคดีของจีน พบว่ามนุษย์โฮมินิน (Hominin) กลุ่มนี้ มีความจุกะโหลก 1,700 ลูกบาศก์เซนติเมตร หากอ้างอิงจากฟอสซิลกะโหลกที่ขุดพบจากแหล่งโบราณคดีสวี่เจียเหยาในช่วงทศวรรษ 1970
อู๋ซิ่วเจี๋ย นักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) เผยว่านี่คือกลุ่มโฮมินินที่มีศีรษะขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง โดยทีมงานของอู๋จำลองกะโหลกส่วนหลังที่ค่อนข้างสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้กระดูก 3 ชิ้นจากร่างของมนุษย์โฮมินินวัยหนุ่มสาวคนเดียวกัน
มนุษย์โฮมินินจากแหล่งโบราณคดีสวี่เจียเหยา มีสมองเล็กกว่า "มนุษย์สวี่ชาง" ซึ่งมีขนาดสมองราว 1,800 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยทั้งสองกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ทว่ามนุษย์สวี่เจียเหยามีชีวิตอยู่ก่อนมนุษย์สวี่ชางประมาณ 60,000 ปี
อู๋ ผู้เขียนงานวิจัยหลัก กล่าวว่าผลการวิจัยชิ้นนี้มอบหลักฐานเกี่ยวกับขนาดสมองที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ในช่วงยุคนีแอนเดอร์ทัลและโฮโมเซเปียนส์สมัยใหม่
มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นีแอนเดอร์ทัล และเดนิโซวาน ล้วนมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกัน แต่มีความพิเศษตรงที่ฟอสซิลมนุษย์สวี่เจียเหยา ซึ่งถูกค้นพบในการศึกษาก่อนหน้า เผยให้เห็นว่าพวกเขามีฟันเหมือนมนุษย์ยุคใหม่
คณะนักวิทยาศาสตร์เคยสันนิษฐานว่าสมองของมนุษย์ยุคหินเก่า ตั้งแต่ออสตราโลพิเทคัส โฮโมฮาบิลิส และโฮโมอีเรกตัส มีขนาดใหญ่ขึ้นตามกาลเวลา ทว่าการศึกษาเมื่อไม่นานนี้ได้คัดค้านสมมติฐานดังกล่าว เนื่องจาก "มนุษย์ฟลอเรส" ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 100,000-50,000 ปีก่อน มีสมองขนาดเพียง 400 ลูกบาศก์เซนติเมตร เล็กกว่าสมองของ "มนุษย์สวี่ชาง" กว่า 4 เท่า
ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าวอาจช่วยมอบข้อมูลว่าสิ่งใดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของขนาดสมองบรรพบุรุษของเรา และเติมเต็มองค์ความรู้ที่ขาดหายไปในแวดวงวิวัฒนาการมนุษย์