รีเซต

โฆษกรบ.เผย กนอ.เร่งยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ฮับโลจิสติกส์ รับส่งสินค้า อาเซียน-จีน

โฆษกรบ.เผย กนอ.เร่งยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ฮับโลจิสติกส์ รับส่งสินค้า อาเซียน-จีน
มติชน
11 ธันวาคม 2564 ( 09:52 )
34
โฆษกรบ.เผย กนอ.เร่งยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ฮับโลจิสติกส์ รับส่งสินค้า อาเซียน-จีน

โฆษกรัฐบาล เผย กนอ. ร่วมภาคเอกชน เดินหน้าตามนโยบาย “นายกฯ” ยกระดับ “นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี” ให้เป็น Hub Logistic แห่งภูมิภาค ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางรับ-ส่งสินค้า สู่อาเซียนและจีน

 

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งยกระดับนิคมอุตสาหกรรม อุดรธานี ให้เป็นฮับโลจิสติกส์ (Hub Logistic) ของภูมิภาค โดยเป็นศูนย์กลางในการรับ/กระจายสินค้าในภาคอีสานไปสู่อาเซียนและประเทศจีน ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในคราวเดินทางตรวจราชการ ณ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ด้วยการขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรม อุดรธานีให้มีความทันสมัยด้วยการใช้เทคโนโลยี และดึงดูดนักลุงทุน นักธุรกิจ จากต่างประเทศ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ส่งเสริมการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายให้นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายส่งเสริมให้แต่ละภูมิภาคมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นของตนเอง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับและขนส่งสินค้า โดยนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางราง และโลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่งให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีและลูกค้าทั่วไป ที่ต้องการขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งสินค้าทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2568 อุดรธานีจะมีเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่ทรงประสิทธิภาพ ทั้งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง และรถไฟทางคู่ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ ช่วยเพิ่มความแน่นอน และลดเวลาการขนส่งได้ถึงร้อยละ 30 แต่ต้นทุนถูกกว่า 2 เท่า รวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังอืกด้วย

 

นายธนกร กล่าวอีกว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงโอกาสในการประกอบธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมีแผนพัฒนาก่อสร้างโรงงานขนาดเล็ก (Micro Factory) เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจ SMEs เช่าประกอบกิจการ ต่อยอดธุรกิจและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งมีสำนักงานบริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Services : OSS) ให้บริการอนุมัติ อนุญาต ในการประกอบกิจการแบบครบวงจร การเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาค ยังเป็นหนึ่งในแผนงานของรัฐบาล ตามเจตนารมย์ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเห็นการกระจายความเจริญและประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง