รีเซต

นักวิชาการยะลาชี้ ครบรอบ 18 ปี ไฟใต้ ความรุนแรง ยังไม่จางหาย

นักวิชาการยะลาชี้ ครบรอบ 18 ปี ไฟใต้ ความรุนแรง ยังไม่จางหาย
ข่าวสด
4 มกราคม 2565 ( 13:48 )
78

นักวิชาการยะลา ชี้ 18 ปี ไฟใต้ ความรุนแรงยังไม่จางหาย การเจรจาสันติภาพ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลายฝ่าย และกลุ่มบีอาร์เอ็น ยังไม่ลงรอยปมแก้ปัญหา

 

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 18 ปี ของเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารถึง 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 47 และนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เหมือนเดิม

 

ล่าสุดกลุ่มคนร้ายในพื้นที่แบ่งกลุ่มก่อเหตุสร้างความปั่นป่วนลอบยิง วางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และระเบิดเสาไฟฟ้า เสาโทรศัพท์ ต้อนรับปีใหม่ 2565 จนเกิดการสูญเสียกับเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน ทรัพย์สินตามมา

 

ดร.ตายูดิน อุสมาน อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเผยว่า วันที่ 4 มกราคม 2547 คือวันเริ่มต้นของการเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเกิดการเรียกร้องการแสดงพลังออกมา ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการต่อสู้ในเชิงของสัญลักษณ์ ต้องการสื่อให้เห็นว่าขบวนการที่เคลื่อนไหวยังอยู่

 

ส่วนในขบวนการเองยังมีฝ่ายที่ไม่ลงรอยระหว่างกัน บางทีบางฝ่ายคนที่อยู่ในขบวนการที่ต้องการเจรจาสันติภาพก็มีและไม่เห็นด้วยกับการเจรจาก็มี เพราะฉะนั้นการสร้างสถานการณ์ก่อนปีใหม่ 2564 และหลังปีใหม่ 2565 ถือว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ในรูปแบบของเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้โลกได้รับรู้ เพื่อให้คนในพื้นที่รู้ว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังมีอยู่

 

ถ้ามองในเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในช่วงนี้ จำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่เปลี่ยนแปลงคือความสูญเสียคนได้รับผลกระทบจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า ตนมองว่าวิธีแก้ปัญหาที่มีความชัดเจน หลักสากลก็คือต้องมีการพูดคุยเจรจาสันติภาพ แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลายฝ่ายไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ด้านเดียวเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นนักการเมือง สส. สว. นักธุรกิจต่าง ๆ และคนที่เกี่ยวข้อง

 

ข้าราชการต้องมาหนุนเสริม เพื่อให้การพูดเจรจาสันติภาพสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทางด้านภาคประชาสังคมพี่น้องต้องมีข้อเสนอมายังเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเอาข้อเสนอต่างไปสู่เวทีของการเจรจาสันติภาพบนโต๊ะต่อไป อยากจะรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ชาวบ้านต้องการอะไร คนที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ ต้องการอะไร เอาข้อเสนอนี้ไปเสนอต่อคนที่เห็นต่างต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง