คลังเผยรายได้รัฐบาล 10 เดือนแรกยังต่ำเป้ากว่า 2.5 หมื่นล้าน

คลังเผยรายได้รัฐบาล 10 เดือนแรกเริ่มกระเตื้อง แต่ยังต่ำเป้ากว่า 2.5 หมื่นล้าน โดยจัดเก็บได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท คาดทั้งปีจะจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย ขณะที่ เงินคงคลังยังสูงกว่า 4.32 แสนล้าน
#ทันหุ้น นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในรอบ 10เดือนของปีงบประมาณ 2567ว่า รายได้รัฐบาลสุทธิของรัฐบาลต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 1.1% ซึ่งมีแนวโน้มลดลง จากในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
“จากแนวโน้มผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทรวงการคลังมีความมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการ การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย”
ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวนกว่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยการนำส่งรายได้ที่สูงกว่าเป้าหมายของรัฐวิสาหกิจ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมธนารักษ์
ขณะที่ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตได้รับผลกระทบจากมาตรการ ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 - เมษายน 2567 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ สังคมคาร์บอนต่ำและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
อย่างไรก็ดีการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตและรายได้รัฐบาลสุทธิ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.6% และ 3.3% ตามลำดับ นอกจากนี้ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวมกว่า 6.9 หมื่นล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิ จะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.8%
สำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท ในขณะที่ มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2.7 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลกว่า 4.68 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.32 แสนล้านบาท