คาร์ทิป : ภาระค่าใช้จ่ายเมื่อมีรถ!
ผู้ใช้รถแต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายประจำทุกปี ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ยานยนต์ “มติชน” มีข้อแนะนำ การดูแลค่าใช้จ่ายดังนี้
1.ค่าผ่อนงวดรถ ถือเป็นค่าใช้จ่ายประจำต้องใช้เงินก้อนโตจ่ายแต่ละเดือน จำนวนเงินผ่อนอัตราดอกเบี้ยคงที่ คือ เงินต้นรวมกับดอกเบี้ยแล้วหารจำนวนเดือนที่จะผ่อน ก่อนซื้อรถควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด อย่าหลงกลโปรชั่นส่งเสริมการตลาด และเมื่อซื้อมาแล้วก็จ่ายค่างวดให้ตรง ควรเตรียมเงินไว้ให้พร้อมก่อนถึงกำหนดส่งค่างวด
2.ค่าประกันภัยรถยนต์ มีให้เลือกประกันตั้งแต่ประกันชั้น 3 ราคาเริ่มต้นประมาณพันกว่าบาท ไปจนถึงประกันชั้น 1 ราคาประมาณ 5,000-10,000 บาท ขึ้นไป ควรทำประกันชั้น 2+ หรือ 3+ ไว้ เผื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด
3.ค่าประกัน พ.ร.บ. เป็นประกันภัยภาคบังคับรถทุกคันต้องมีไว้สำหรับคุ้มครองผู้ประสบภัย รถเก๋ง 600 บาท รถกระบะ 900 บาท และรถตู้ (ไม่เกิน 15 ที่นั่ง) 1,100 บาท (ราคากลางจาก คปภ.) ถ้าไม่ยอมต่อ พ.ร.บ.จะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้ รถไม่มี พ.ร.บ.มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
4.ค่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของรถ ความจุเครื่องยนต์ ไปจนถึงอายุการใช้งาน เช่น รถนั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ภาษีจะขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องยนต์ (0.5-1.5 บาท/ซีซี) รถนั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน เช่น รถเก๋ง รถกระบะ 4 ประตู รถเอสยูวี รถประเภทนี้คิดภาษีตามซีซี แบบขั้นคือ ตั้งแต่ 1-600 ซีซี ซีซีละ 0.50 สตางค์ จาก 601-1800 ซีซี ซีซีละ 1.50 บาท และ 1801 ซีซี ขึ้นไป ซีซีละ 4 บาทอัตราค่าภาษี ปีที่ 1-5 จะคงที่ รถอายุเกิน 6 ปี จะลดภาษีลง 10% ไปจนสูงสุดถึง 50% ในปีที่ 10 และจะคงที่ 50% ในปีต่อไป รถที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 7 ปี ต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพ ตรอ. จึงจะสามารถต่อภาษีได้
กรณีขาดต่อภาษี ค่าปรับร้อยละ 1 ต่อเดือนจนถึงวันชำระ ยังอาจถูกจับปรับไม่เกิน 2,000 บาท ถ้าขาดชำระค่าภาษีติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี จะถูกระงับการใช้ทะเบียน
5.ค่าบำรุงรักษารถยนต์ เช็กตามระยะทุก 10,000 กม. หรือประมาณ 6-12 เดือน นำรถเข้าตรวจเช็กที่ศูนย์บริการ ค่าใช้จ่ายหลักเป็นพวกของเหลว เช่น น้ำมันเครื่อง, กรองอากาศ ต้องเปลี่ยนทุกรอบที่เข้าเช็ก ยังมีอะไหล่ต่างๆ เสื่อมสภาพ ต้องเปลี่ยนตามระยะการใช้งาน เช่น ผ้าเบรก, น้ำมันเบรก, แบตเตอรี่ และอื่นๆ สำหรับรถป้ายแดง 3 ปี หรือ 100,000 กม.แรก มักมีเคมเปญค่าแรงฟรี เสียแค่ค่าอะไหล่ ควรเข้าไปเช็กและเปลี่ยนตามระยะ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายหนักกว่าเดิม ต้องเสียเงินมากขึ้น
6.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ขึ้นอยู่กับการใช้งานและอัตราสิ้นเปลืองของรถยนต์แต่ละรุ่น รวมถึงพฤติกรรมการขับไปจนถึงสภาพรถ สามารถคำนวณค่าน้ำมัน ด้วยการหาค่าอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยว่าวิ่งได้กี่ (กม./ลิตร) ตกกิโลเมตรละกี่บาท (กม./บาท) ใน 1 วันใช้รถกี่กิโลเมตร คูณเข้าไปจะได้ ค่าน้ำมันต่อ 1 วัน (บาท/วัน) แล้วนำไปคูณจำนวนวันแต่ละเดือน และคูณ 12 เดือน ได้ออกมาเป็นค่าน้ำมันต้องเติมใน 1 ปี
7.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าล้างรถ, ค่าที่จอดรถ, ค่าทางด่วน และค่าตกแต่งรถยนต์ ไม่มียอดตายตัว สามารถปรับลดทอนได้ตามความจำเป็น
ตัวอย่างการคำนวณ ค่าใช้จ่ายรถเก๋ง เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ค่าใช้จ่ายประจำทุกปี 1.ค่าผ่อนงวดประมาณ 7,300 บาท/เดือน หรือ 87,600 บาท/ปี 2.ค่าประกันภัยชั้น 1 10,000 บาท 3.ค่าต่อภาษีประจำปี 1,650 บาท 4.ค่า พ.ร.บ. 645 บาท 5.ค่าบำรุงรักษารถยนต์ เช็กระยะทุก 10,000 กม. หรือประมาณ 6-12 เดือน/ครั้ง ค่าอะไหล่รวมค่าแรง 987.4 ถึง 5,263.1 บาท ตามระยะทาง สมมุติปีนี้เช็กระยะที่ 30,000 กม. ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,921.4 บาท เป็นต้น 6.ค่าน้ำมัน ขับไม่เกิน 60 กม./วัน อัตราสิ้นปลืองเฉลี่ย 12 กม./ลิตร ค่าน้ำมันประมาณ 133.75 บาท/วัน หรือ 4,012 บาท/เดือน และ 48,150 บาท/ปี 7.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประมาณ 5,000-8,000 บาท/ปี
สรุปรวมค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายแต่ละปีประมาณ 170,000-180,000 บาท/ปี สำหรับรถยนต์ราคาไม่เกิน 6 แสนบาท