เปิดตำนานความเชื่อชาวพิจิตร "อัญเชิญแม่ย่านางประทับยังเรือ" ก่อนสู้ศึกจ้าวแห่งสายน้ำ 8-10 ก.ค.นี้
19 มิถุนายน 2565 จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นเมืองแห่งลุ่มน้ำ และในช่วงเดือน สิงหาคม และกันยายน เป็นช่วงฤดูน้ำหลากของทุกๆปี วิถีชีวิตของชาวจังหวัดพิจิตร ที่ว่างเว้นจากการทำไร่ ทำนา จะมีประเพณีประจำปีเกิดขึ้น คือประเพณีแข่งขันเรือยาว เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมามากว่า 115 ปี ถือว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำของชาวพิจิตร โดยหมู่บ้านชุมชนและวัดต่าง ๆ ใน จังหวัดพิจิตร ได้สืบสานการแข่งขันเรือยาวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า สิบสนาม และสนามที่ถือเป็นสนามการแข่งขันที่ใหญ่มีชื่อเสี่ยงระดับประเทศ ที่ประชาชน และนักท่องเที่ยว จากทั่วสารทิศต่างเฝ้ารอคอย ชมและเชียร์การแข่งขัน ก็คือ การแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ แม่น้ำน่าน หน้าพระอุโบสถหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง พระอารามหลวง
ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน และในปีนี้จังหวัดพิจิตร มีการเพิ่มสนามน้ำนิ่ง แข่งขันอีกหนึ่งสนามคือที่บริเวณบึงสีไฟ ระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคมนี้ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร จัดขึ้นเป็นสนามประลองสนามแรก สิ่งที่สำคัญ ที่ขาดไม่ได้ทุกๆปี ก่อนจะมีการแข่งขันสืบทอดมรดงทางสายน้ำของชาวเรือในจังหวัดพิจิตร เจ้าของเรือยาว ฝีพายเรือ จะต้องนำชาวเรือ และฝีพาย มาประกอบ “พิธีบวงสรวงบูชาเทพแม่ย่านางเรือ” ตามความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเรือพายทุกลำจะขุดจากต้นตะเคียนทองเป็นไม้มงคลเชื่อกันว่ามีเทพศักดิ์สิทธิ์สิงประทับอยู่ และ ก่อนจะนำเรือลงสู่สายน้ำ ในการซักซ้อมสู้ศึกเจ้าแห่งสายน้ำนั้น จะต้องประกอบพิธีอัญเชิญแม่ย่านางลงมาประทับยังเรือทุกลำ
จากนั้นจะมีพธีสงฆ์โดยพระสงฆ์จะสวดพระคาถาเจริญพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย โดยวันนี้ชาวบ้านวัดยางคอยเกลือ ได้นำเรือ “พันแสง”และ “เรือขุนเพ่ง” รวม 12 ลำ ซึ่งเป็น เรือยาว เรือดัง เรือดีแห่งวัดยางคอยเกลือ ตำบลปากทาง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรมาประกอบพิธีดังกล่าว โดยมี พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ที่ปรึกษาทีมเรือพันแสง และเรือขุนเพ่ง และนายมะยม สงวนทรัพย์ ผู้จัดการทีมเรือพันแสง พร้อมด้วยชาวบ้านวัดยางคอยเกลือ ฝีพายเรือได้ร่วมพิธี ดังกล่าวอย่างพร้อมเพียงกัน เพื่ออัญเชิญแม่ย่านาง อีกทั้งเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม เป็นสิริมงคล และสร้างขวัญกำลังใจแก่ฝีพายเรือ และครอบครัว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องที่คน
นายมะยม สงวนทรัพย์ ผู้จัดการทีมเรือพันแสง และเรือขุนเพ่ง กล่าวว่า วันนี้ได้นำเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย เรือยาวกลาง 40 ฝีพาย และเรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย รวมจำนวน 12 ลำเข้าพิธี พราหมณ์ และพิธีสงฆ์ตามความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา ตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งเรือค้าขาย และเรือพาย ก็จะต้องมีพิธีกรรมบูชาอัญเชิญเทพแม่ย่านางประทับยังเรือทุกลำ เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิริมงคล และจะต้องมีสิ่งของเซ่นไหว้ อาทิเช่นพวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องโภชนาหารต่างๆเช่นหัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลา ผลไม้ ขนมหวาน และเครื่องกระยาบวช ต่างๆ รวมทั้งแป้ง น้ำหอม ผ้าสีให้แม่ย่านาง ลงมารับของเซ่นไหว้ และประทับยังหัวเรือทุกลำ ทั้งนี้เพื่อให้เรือและลูกเรือทุกลำประสบภัยชัยชนะต่างๆและรอดพ้นจากภัยต่างๆ ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา นอกจากจะเป็นสิริมงคลแล้วยัง เพิ่มความเข้มขลัง ความฮึ๊กเหิม และสร้างขวัญกำลังใจแก่ฝีพายเรือทุกคน ในการจ้ำเรือทยานสู่ชัยชนะ สำหรับเรือพันแสง ได้เป็นแชมป์เรือยาวสนามใหญ่ที่สนามวัดท่าหลวงมาเกือบทุกปี และเป็นเรือตัวแทนของชาวพิจิตร ที่จะไปชิงชัยยังสนามอื่นๆทั่วประเทศอีกด้วย
ด้าน พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ได้กล่าวว่า ประเพณีบวงสรวงแม่ย่านางเรือถือว่าเป็นประเพณีอันดีงาม ที่ชาวเรือทุกลำทุกคนจะต้องประกอบพิธีตามความเชื่อเพื่อเป็นสิริมงคล เพื่ออัญเชิญแม่ย่านางมาประทับเรือก่อนจะเข้าสนามการแข่งขัน ซึ่งในปีนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดงานสืบสานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ลำน้ำน่าน หน้าพระอุโบสถ์ หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร จึงเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกท่านได้มาท่องเที่ยวจังหวัดพิจิตรร่วมสืบสานงานประเพณีแข่งขันเรือยาวที่ ในวันที่ 3-4 กันยายน และที่สนามบึงสีไฟ ในวันที่ 8-10 กรกฎาคมนี้ นอกจากจะเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีแข่งขันเรือยาวแล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองพิจิตรอีกด้วย สำหรับการแข่งขันเรือยาวทั้งสองสนามนี้ มีเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย เรือยาวกลาง 40 ฝีพาย เรือยาวเล็ก ไม่เกิน 30 ฝีพาย เข้าร่วมแข่งขันกว่า 50 ลำ
ภาพ ผู้สื่อข่าว จ.พิจิตร