สบน.เผย S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย BBB+ การคลังสาธารณะยังแข็งแกร่ง คาด ศก.ฟื้นตัวปี 66
สบน.เผย เอส แอนด์ พี คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ BBB+ การคลังสาธารณะ-การเงินต่างประเทศ ยังแข็งแกร่ง คาดจีดีพีปี 64 โต 1.1% เศรษฐกิจฟื้นตัว ปี 66
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 บริษัท S&P Global Ratings (เอส แอนด์ พี) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ระดับมีเสถียรภาพ ขณะที่ภาคการคลังสาธารณะ มีความแข็งแกร่ง แม้ว่าการดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะทำให้การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564–2565 และหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เอส แอนด์ พี คาดว่าปี 2566 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายรัฐบาล เศรษฐกิจฟื้นตัว รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นและจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง
นางแพตริเซียกล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เอส แอนด์ พี คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต ประมาณ 1.1% และจะเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3.6% ต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 จากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 และประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงได้ อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ที่ระดับเดิมก่อนเกิด โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
“นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (พีพีพี) เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ
“ภาคการเงินต่างประเทศยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล อีกทั้งสภาพคล่องและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดยเอส แอนด์ พี คาดว่าสภาพคล่องต่างประเทศของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายทางการเงินและการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ” นางแพตริเซียกล่าว
นางแพตริเซียกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่เอส แอนด์ พี จะติดตามอย่างใกล้ชิดคือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง