วช.ระดมพลังนักวิชาการ ผนวกเอกชนเร่งวิจัยเข้มข้น 'นวัตกรรม' การแพทย์ สังคม เศรษฐกิจ หวังแก้วิกฤตโควิด
ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและพัฒนา (ศปก.วิจัย) โควิด-19 โดย วช.ระดมพลังผู้ใช้งาน ภาควิชาการ ภาคเอกชน เร่งวิจัยและนวัตกรรมชุดตรวจ วัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการวิจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ แก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เมื่อวันที่ 25 เมษายน ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ต่อมามีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 16/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ให้มีการรวบรวมนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัย และการพัฒนาในด้านต่างๆ มาสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม ผู้ทำงานที่ประกอบด้วยนักวิชาการ นักวิจัย จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่จะมาช่วยสร้างนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานและตรงกับความเชี่ยวชาญของผู้วิจัยและสร้างนวัตกรรม
ตั้งแต่ในระยะแรกที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น วช. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลในทุกมิติ เช่น ข้อมูลการแพร่ระบาด การคาดการณ์ นำมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ข้อมูล ตามกราฟแสดงข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจในการดำเนินงาน และ วช.ยังมีบทบาทในการสนับสนุนการวิจัยเร่งด่วนตามความต้องการของประเทศ ตามความต้องการของผู้ใช้งานทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้ทุนวิจัยเร่งด่วนใน 5 กลุ่มเรื่อง เพื่อศึกษาทำความเข้าใจทางด้านพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยใช้ข้อมูล Bigdata เป็นต้น พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย ยารักษาโรค และวัคซีนในการป้องกัน และต่อมาได้เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่จำเป็นเร่งด่วน ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น การพัฒนาและผลิตหน้ากาก N95 ชุดป้องกันเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ ห้องตรวจเชื้อความดันลบ ฯลฯ ที่เป็นการสนับสนุนทุนวิจัยแบบจำเพาะเจาะจง และมีผู้เสนอโครงการกว่า ๓๐๐ โครงการ ซึ่งกำลังพิจารณาโครงการอย่างเร่งด่วนอยู่ในขณะนี้
ผู้อำนวยการ วช. กล่าวต่อว่า การดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการนี้ ใช้ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้งานวิจัยและนักวิจัยที่ต้องการทำวิจัย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะโรคโควิด-19 เป็นการแพร่ระบาดทั่วทั้งโลก ประเทศไทยมีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและสถาบันวิจัยชั้นนำทั่วโลก หน่วยงานระดับชาติและนานาชาติ วช. ได้ประมวลผลข้อมูลต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการถอดบทเรียนที่พบในประเทศจีน ศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นในยุโรป อิตาลี อังกฤษ ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ในการนี้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัยและพัฒนา ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโรคโควิด-19 เพื่อระดมกำลังทุกภาคส่วนช่วยดำเนินงาน เป็นกลไกสนับสนุนและขับเคลื่อนการวิจัย ระบบข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง เช่น กิจกรรมด้านนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัยและพัฒนาในประเทศควรมีอะไรบ้าง ผู้ใช้ต้องการอะไร ต้องวิเคราะห์แต่ละประเด็นวิจัย ติดตามความก้าวหน้าทางการวิจัย เช่น เมื่อพ้นจากการระบาดแล้วในระยะแรกต้องดำเนินการอย่างไร ใช้กลไกอะไรบ้างที่จะทำให้ประชาชนอยู่ได้ โดยในขณะนี้ได้สนับสนุนและติดตามประเมินความก้าวหน้า 4 เรื่อง ได้แก่ วัคซีน ชุดตรวจวินิจฉัยโรคในรูปแบบต่าง ๆ ยาและการรักษาที่ดี และมิติทางด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ การสร้างงานอาชีพให้ประชาชน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยหลังจากประเทศไทยได้พ้นจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ประเทศไทยจะต้องพร้อมด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่พึ่งพาตนเองได้ มีนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นตัวอย่างของนานาประเทศได้
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ภายในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ได้ระดมหน่วยงานวิจัย ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาควิชาการ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ใช้นวัตกรรมจากกระทรวงสาธารณสุข, BOI, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยสนับสนุนวิชาการ อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.), หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) ทุกหน่วย, สวทช., สกสว., สอวช., กรมวิทยาศาสตร์บริการ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และหน่วยงานด้านมาตรฐาน มาหารือกันเพื่อรวมข้อมูลและความก้าวหน้าด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมทั้งหมดของประเทศ ในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ตรงความต้องการของผู้ใช้งานและความเชี่ยวชาญของผู้สร้างนวัตกรรม
ที่ประชุมได้ร่วมให้ข้อมูลความต้องการใช้นวัตกรรมการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95, ชุด PPE ของบุคลากรทางการแพทย์, เครื่องช่วยหายใจ, หน้ากากอนามัยมาตรฐาน, ห้องควบคุมความดันลบ, วัคซีน, ยาต้านไวรัส รวมทั้งโจทย์การวิจัยในมิติทางด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ระบบข้อมูลในการติดตามและป้องกันการเกิดการแพร่ระบาดซ้ำหลังจากการผ่อนคลายมาตรการ, การศึกษาทางระบาดวิทยา, การศึกษาด้านพันธุกรรมของเชื้อไวรัส, การศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยใช้ข้อมูล Big data, การสร้างงานอาชีพให้กับประชาชน และแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด รวมถึงการวางแผนการวิจัยระยะกลาง อาทิ การผลิตวัคซีน, การตรวจวินิจฉัยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระยะยาว
ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศบค. (ศปก.วิจัย) ยังได้ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติและการประสานความร่วมมือของผู้ใช้และผู้วิจัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้จัดทำแนวทางการดำเนินการทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานทั้งหมดของประเทศ ผู้ใช้ หน่วยงานวิชาการ หน่วยรับรองคุณภาพมาตรฐาน และหน่วยงานผลิตภาคอุตสาหกรรม เพื่อป้องกัน แก้ไขและบรรเทาสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งจัดกลุ่มและชนิดนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา การจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่ทันเวลา ตอบสนองสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยกระดับการวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้