รีเซต

นักวิจัยอาร์เจนตินาใช้ "ต้นไม้เหลว"ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตเมือง

นักวิจัยอาร์เจนตินาใช้ "ต้นไม้เหลว"ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตเมือง
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2567 ( 10:08 )
56
นักวิจัยอาร์เจนตินาใช้ "ต้นไม้เหลว"ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตเมือง

นักวิทยาศาสตร์ชาวอาร์เจนตินาออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพแบบใช้แสง (photobioreactor) ที่ใช้ความสามารถของสาหร่ายขนาดเล็ก มาช่วยผลิตออกซิเจน และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ โดยเริ่มนำต้นแบบเครื่องปฏิกรณ์ที่ว่านี้ไปทดลองใช้งานแล้วในเขตเมือง


ภาพจากรอยเตอร์ 

ผลงานนี้พัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจาก Y-TEC องค์กรที่ก่อตั้งโดยบริษัทน้ำมันของรัฐฯ ร่วมกับสภาวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคนิคแห่งชาติ และสถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจับมือกันเพื่อพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพแบบใช้แสง ให้ชื่อว่า "Y-ALGAE" โดยเคลมว่าเครื่องนี้สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ 10 - 50 เท่า


สำหรับการทำงานของเครื่องนี้ ภายในจะมี “ต้นไม้เหลว” หรือ “liquid tree” ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือ “สาหร่ายขนาดเล็ก” ที่มีถิ่นกำเนิดทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองบัวโนสไอเรส โดยตัวเครื่องจะใช้พลังงานจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของสาหร่าย เพื่อแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้กลายเป็นก๊าซออกซิเจน และชีวมวล (biomass) 


ทั้งนี้อุปกรณ์แต่ละเครื่อง สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณครึ่งเมตริกตันต่อปี ส่วนชีวมวล (biomass) ที่ได้มานี้ ยังสามารถนำกลับมาใช้เป็นปุ๋ย เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัสดุโครงสร้างคอนกรีตได้อีกด้วย


อย่างไรก็ตามผลงานนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ในประเทศเซอร์เบีย ก็เคยมีการทดลองติดตั้งเครื่องฟอกอากาศพลังสาหร่ายที่คล้ายกัน ในชื่อว่า Liquid 3 เพื่อใช้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในเมืองมาแล้ว โดยเครื่องฟอกอากาศ Liquid 3 นี้จะต้องมีการเปลี่ยนน้ำภายในตัวเครื่องทุก ๆ 1 เดือนครึ่ง นอกจากนี้สาหร่ายยังทนอุณหภูมิได้ในระหว่าง 5 - 35 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่เหมาะกับเมืองที่เย็นจัดหรือร้อนจัด


ดังนั้นถ้าจะนำมาใช้ในประเทศไทย ไม่แน่ว่าอาจจะต้องมีการปรับให้ตัวเครื่องสามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ก็เชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าจะทำให้อากาศในเมืองสะอาดได้ ด้วยพลังที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง


ข้อมูลจาก reutersconnecttnnthailandinbiotec-conicet


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง