สถาปัตยกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม | TNN Tech Reports
สถาปัตยกรรมไร้คาร์บอน ลดการพึ่งพาพลังงาน และลดการสร้างมลพิษ ถือเป็นหนึ่งแนวทางที่สถาปนิกและเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสนใจ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการออกแบบโครงสร้าง วัสดุ และการตกแต่ง ที่เป็นมิตรกับส่งแวดล้อมมากขึ้น
สวีเดนเตรียมสร้างเมืองไม้ใหญ่ที่สุดในโลก
สวีเดนเปิดแผนการก่อสร้างเมืองจากไม้ ที่เคลมว่าจะเป็นเมืองไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่กว่า 250,000 ตารางเมตร
สถาปัตยกรรมนี้คือเมืองที่มีชื่อว่า สตอกโฮล์ม วูด ซิตี้ (Stockholm Wood City) ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่ การเลือกใช้วัสดุไม้ในการก่อสร้าง ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้าง เมื่อเทียบกับโครงสร้างเหล็กและคอนกรีตแบบดั้งเดิม
โดยพื้นที่เมืองจะมีอาคารกว่า 20 หลัง แบ่งผังเมืองออกเป็น 25 บล็อก ลักษณะโครงสร้างอาคารไม้มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยแนวราบ ไปจนถึงอาคารแบบผสมผสานที่สูงขึ้น โดยคาดว่า จะรองรับสำนักงานได้ถึง 7,000 แห่ง และบ้านพักอาศัยอีก 2,000 หลัง รวมถึงพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะ
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงเรียน พื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ รถไฟใต้ดิน มากไปกว่านั้นผู้พัฒนายังมองไปถึงการทำให้เมืองนี้ สามารถเดินหรือปั่นจักรยานไปสถานที่ต่าง ๆ ได้สะดวก เพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้รถยนต์ในการเดินทาง
สำหรับโครงการก่อสร้างทั้งหมด คาดว่าจะเริ่มขึ้นในปี 2025 นี้และอาคารแรกจะแล้วเสร็จภายในปี 2027
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตู
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตู มองจากภายนอกมีลักษณะเหมือนเสาหินธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางทางด้านทิศใต้ของเมือง ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบอาคารจากสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของเฉิงตู เช่น ภูเขา ถนนหนทาง และป่าไม้
รวมถึงมีการผสมผสานกับเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ใช้ผนังกันฝนแบบพับได้ 2 ชั้น และมีมากกว่า 70 แบบ ผนังม่านเหล็กด้านนอกมากกว่า 6,000 ชิ้นมาเชื่อมต่อกัน หนักรวมกว่า 8,700 ตัน ซึ่งตั้งใจให้ผู้เข้าชมนึกถึงพื้นผิวขรุขระของภูเขา
ส่วนด้านในใช้วัสดุตกแต่งเป็นกระจกไล่เรียงกัน มีส่วนเชื่อมชั้นสองและชั้นสาม ขณะที่ทางเดินลอยฟ้าก็มอบประสบการณ์แบบ Interactive หรือการมีส่วนร่วมแก่ผู้เข้าชม ด้วยหุ่นไดโนเสาร์ขนาดเท่าของจริงที่ห้อยลงมาจากเพดาน
นอกจากนี้ ยังออกแบบให้มีระบบการจัดเก็บน้ำฝนที่รวบรวมและนำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ ระบบรีไซเคิลขยะแบบครบวงจร และอื่น ๆ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน
กระท่อมหลังคาเลื่อนได้ รับแสงธรรมชาติ
แอนนา สเตย์ (ANNA Stay) เป็นที่อยู่อาศัยแบบกึ่งกลางแจ้ง หรือ Semi Outdoor ที่สามารถเลื่อนเปิด-ปิดหลังคา และโครงสร้างภายในได้ เปิดรับอากาศบริสุทธิ์ และแสงภายนอกได้มากขึ้น ช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้า
เป็นลักษณะกระท่อมที่มีโครงสร้างหลักซ้อนกันสองชั้น คือ ส่วนภายนอกที่เป็นโครงสร้างหลังคาและผนังแบบไม้ ส่วนภายในเป็นโครงสร้างแบบกระจก ครอบทับพื้นที่อยู่อาศัย
โครงสร้างทั้งสองชั้น มีล้อเลื่อนและคันโยกประตู แค่ออกแรงดึง ก็สามารถเลื่อนโครงสร้างเข้าและออกได้ตามต้องการ โดยเลือกได้ว่าอยากจะเลื่อนโครงสร้างภายนอกหรือภายในออก เช่น ถ้าอยากจะชมวิวธรรมชาติ แต่ไม่อยากรับลม ก็เลื่อนเฉพาะโครงสร้างภายนอก แค่นี้ก็จะเห็นวิวรอบ ๆ โดยยังมีกระจกใสล้อมรอบอยู่ แต่ถ้าอยากรับลม ก็แค่เลื่อนโครงสร้างกระจกภายใน
ส่วนพื้นที่ตัวกระท่อม มีขนาดพื้นที่ประมาณ 86 ตารางฟุต หรือ ประมาณ 9 ตารางเมตร สูงประมาณ 4.5 เมตร เหมาะกับการอยู่อาศัยสำหรับผู้ใหญ่ 2 คน และเด็กอีก 2 - 3 คน
ในส่วนของวัสดุ ด้านนอกกระท่อมทำจากไม้แอคโคย่า (Accoya Wood) ที่มีความแข็งแรงคงทน ขณะที่ภายในตกแต่งด้วยไม้อัดเบิร์ช (Birch Plywood) มีเนื้อไม้ที่เรียบสวย นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์
สำหรับกระท่อมหลังนี้ เป็นผลงานการออกแบบของ แคสปาร์ สคูลส์ (Caspar Schols) นักออกแบบชาวดัตช์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากคุณแม่ของเขาที่รักธรรมชาติ โดย ANNA Stay เริ่มจัดจำหน่ายในปี 2023 นี้