"ปท.อาเซียน" ยังน่าห่วง ยอดผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" เพิ่ม 2 เท่า ใน 1 สัปดาห์
นักวิจัยเผยผลศึกษา “ปท.อาเซียน” ยังน่าห่วง ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 2 เท่า ใน 1 สัปดาห์ ฟิลิปปินส์พุ่งสูง
โควิด-19 เมื่อวันที่ 5 เมษายน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในอาเซียนได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 6,275 ราย เป็น 12,369 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 140 จาก 175 ราย เป็น 420 ราย โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ในเวลาเพียง 7 วัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 90 คน ส่วนในประเทศอินโดนีเซีย มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมแล้วถึง 191 คน คิดเป็น ร้อยละ 9 ของผู้ติดเชื้อที่รายงาน ซึ่งอัตราการตายที่สูงมากนี้ อาจจะเกิดจากข้อจำกัดในการดูแลรักษาผู้ป่วยหนัก หรือเกิดจากจำนวนของผู้ติดเชื้อที่รายงานยังต่ำกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เกือบทุกประเทศในอาเซียน ได้ยกระดับมาตรการในการควบคุมโรคโควิดอย่างเข้มงวดขึ้นมาก เช่น ประเทศไทยได้ประกาศเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืน และสิงคโปร์ได้ประกาศปิดโรงเรียนและบริษัทเป็นส่วนใหญ่
ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ยังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกแล้วเกิน 1,000,000 คน จุดหลักของการระบาดกำลังอยู่ที่ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป ซึ่งแซงหน้าทวีปเอเชียในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 20 อันดับแรก มีเพียง 3 ประเทศ ที่อยู่ในเอเชียอย่างไรก็ตาม การติดเชื้อโรคโควิด-19 ในอาเซียน ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ทุกประเทศพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่แซงไทยขึ้นเป็นอันดับที่ 2 และ 3 แล้ว
อันดับที่ 1 คือ มาเลเซีย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 2,161 ราย เป็น 3,483 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 โดยผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 26 ราย เป็น 57 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 119) ในวันที่ 4 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 367 ราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 7 ราย
อันดับที่ 2 คือ ฟิลิปปินส์ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 803 ราย เป็น 3,094 ราย หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 285 โดยผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 54 ราย เป็น 144 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 167) ในวันที่ 4 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 461 ราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 37 ราย
อันดับที่ 3 คือ อินโดนีเซีย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 1,046 ราย เป็น 2,092 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 โดยผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 87 ราย เป็น 191 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 119) ในวันที่ 4 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 302 ราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21 ราย
อันดับที่ 4 คือ ไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 1,136 ราย เป็น 2,067 ราย หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 82 โดยผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 5 ราย เป็น 20 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 300) ในวันที่ 4 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 89 ราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย
อันดับที่ 5 คือ สิงคโปร์ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 732 ราย เป็น 1,114 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 โดยผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 2 ราย เป็น 6 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 200) ในวันที่ 4 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 65 ราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย
อันดับที่ 6 คือ เวียดนาม มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 169 ราย เป็น 240 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 โดยยังไม่มีผู้เสียชีวิต ในวันที่ 4 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 7 ราย
ส่วนประเทศบรูไน กัมพูชา เมียนมา และลาว ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อไม่มากนัก
ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในฟิลิปปินส์รวดเร็วมากคล้ายกับที่พบในทวีปยุโรป ทั้งจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อหลังจากเมื่อครบ 100 คนแรก และ 1,000 คนแรกแล้ว มีแนวโน้มที่อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กราฟมีความชันสูง ประเทศอินโดนีเซียก็มีความชันของกราฟสูง และจำนวนผู้ติดเชื้อของอินโดนีเซีย เพิ่งแซงหน้าประเทศไทยในวันที่ 4 เมษายน 2563 สำหรับไทยและมาเลเซียมีความชันของกราฟใกล้เคียงกัน แต่ใน 2 วันมานี้จำนวนผู้ติดเชื้อในมาเลเซียเริ่มสูงขึ้นอีก จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในวันที่ 4 เมษายน เรียงตามลำดับ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (เพิ่ม 461 ราย) มาเลเซีย (เพิ่ม 367 ราย) อินโดนีเซีย (เพิ่ม 302 ราย) ไทย (เพิ่ม 89 ราย) และสิงคโปร์ (เพิ่ม 65 ราย)
“สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในแต่ละประเทศ ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังมากขึ้นอย่างมาก ยกระดับมาตรการสำคัญ เพิ่มการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและงดกิจกรรมทางสังคมโดยในประเทศไทยได้ประกาศเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืนและลดการเดินทางระหว่างประเทศ ฟิลิปปินส์ได้ใช้มาตรการเข้มเช่นกัน โดยได้ประกาศคำสั่งห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าในประเทศ” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวและว่า ส่วนประเทศสิงคโปร์ซึ่งก่อนหน้านี้สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ดี แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้ที่ไม่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อมาก่อน ซึ่งแสดงว่าเริ่มมีการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างบุคคลในชุมชนแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ยกระดับมาตรการเข้มงวดขึ้นอีก โดยการปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย และปิดการทำงานของภาคธุรกิจเว้นแต่ธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศเท่านั้นเป็นเวลา 1 เดือน รวมทั้งได้เปลี่ยนนโยบายเรื่องการใส่หน้ากากซึ่งแต่เดิมแนะนำให้ใช้เฉพาะผู้มีอาการป่วยเท่านั้น แต่เปลี่ยนเป็นให้คนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าแบบซักทำความสะอาดได้