รีเซต

จัดหาวัคซีน "โควิด-19" คืบ ไทยทำสัญญาร่วมจีนแล้ว "อนุทิน" ตั้งเป้าโรงงานในปท.

จัดหาวัคซีน "โควิด-19" คืบ ไทยทำสัญญาร่วมจีนแล้ว "อนุทิน" ตั้งเป้าโรงงานในปท.
มติชน
1 พฤษภาคม 2563 ( 16:27 )
150
2

จัดหาวัคซีน “โควิด-19” คืบ ไทยทำสัญญาร่วมจีนแล้ว “อนุทิน” ตั้งเป้าโรงงานในปท.

วัคซีน- เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ทำร่างรายละเอียดเสนอให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.รับทราบแล้ว เหลือลงรายละเอียดให้ชัดเจนภายใน 3 เดือน โดยรายละเอียดหลักๆ มี 3 ข้อ คือ 1.ทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนเร็วใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ 2.ร่วมมือวิจัย รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตในประเทศ และ 3.การวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศเอง ก่อนขออนุมัติงบประมาณที่ชัดเจนสำหรับการมีวัคซีนใช้ ภายใต้กรอบงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับมาก่อนหน้านี้เพื่อสู้กับโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการรับมือกับโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในข้างหน้าด้วย

“สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยนั้น อยู่ระหว่างรอผลการทดลองในสัตว์ทดลอง ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไบโอเนท-เอเชีย คาดว่าประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ น่าจะเห็นความคืบหน้าตรงนี้ รวมถึงรายอื่นที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ให้ทุนนักวิจัยในไทยรายอื่นๆ ในการศึกษาวิจัยด้วย เพื่อให้เรามีทางเลือกหลายๆ ส่วนความร่วมมือกับต่างประเทศนั้น มีการทำสัญญากับมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของจีนแล้ว โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อหลัก เรื่องการร่วมวิจัย การได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การได้รับวัคซีนให้เร็ว อย่างการร่วมทดลองวัคซีนในคนในไทยน่าจะภายในครึ่งปีหลัง” นพ.นคร กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าวว่า ส่วนจะเอาวัคซีนตัวไหนมาทดลองนั้น ยังไม่ได้ทำสัญญากัน แต่มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้พัฒนาอยู่หลายแบบ อาทิ RNA, DNA, หรือเชื้อตาย เป็นต้น ส่วนเจ้าอื่นๆ ทั้งในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงเยอรมนี อยู่ระหว่างการเจรจา ความร่วมมือกันในการพัฒนาวัคซีน

นอกจากนี้ นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนเรื่องการตั้งโรงงานวัคซีนนั้น นายอนุทิน มีนโยบายชัดเจนในการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนให้เป็นรูปธรรมโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ใหม่ เพื่อรองรับการเกิดโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ด้วย

“หลักๆ ไม่ใช่ว่าเป็นการสร้างโรงงานใหม่เลย แต่เรามีพื้นฐานโรงงานอยู่หลายแห่ง ดังนั้น จะมีการพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของการผลิตที่รองรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ รูปแบบต่างๆ ได้ นับเป็นการพัฒนาต่อยอดการผลิตจากโรงงานที่มีอยู่ ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นโรงงานใด ของผู้ผลิตใด อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ตอนนี้มีคนเข้ามาช่วยกันเยอะ เพื่อแข่งกับเวลา แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ เป็นทีมประเทศไทยที่ต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี้ให้ได้ วันนี้เราอยู่บนพื้นฐานที่ต้องขวนขวาย และพัฒนาให้ต่อสู้กับมันให้ได้ ถ้าคิดแค่ว่าสู้ไม่ได้หรอก รอบนี้ก็สู้ไม่ได้ ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่วันข้างหน้าเราก็จะสู้ไม่ได้” นพ.นคร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง