รีเซต

แพทย์ชี้ "วัคซีนโควิด-19" ไทย เป็นไปได้ 2 ชนิด ยันช้ากว่าปท.แนวหน้า แต่ไม่อยู่แถวหลัง

แพทย์ชี้ "วัคซีนโควิด-19" ไทย เป็นไปได้ 2 ชนิด ยันช้ากว่าปท.แนวหน้า แต่ไม่อยู่แถวหลัง
มติชน
24 พฤษภาคม 2563 ( 14:16 )
273
แพทย์ชี้ “วัคซีนโควิด-19” ไทย เป็นไปได้ 2 ชนิด ยันช้ากว่าปท.แนวหน้า แต่ไม่อยู่แถวหลัง

วัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การพัฒนาวัคซีนภายใต้การกำกับดูแลของ สธ. และความร่วมมือจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นการจับมือ 2 กระทรวง เพื่อวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมีหน่วยงานต่างๆ ได้เริ่มผลิตวัคซีนตั้งต้นขึ้นมา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริษัท ไบโอเนท เอเชีย, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งทั้งหมดอยู่ในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก

นพ.นคร กล่าวว่า วัคซีนที่จะผ่านการทดสอบจะต้องทดสอบในสัตว์ทดลองให้ได้ผลที่น่าพึงพอใจ โดยต้องผ่านเงื่อนไขความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ทดลองได้ จึงจะสามารถนำมาทดลองในมนุษย์ ซึ่งจะมีการทดลองใน 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย ในจำนวนทดลอง 30-50 คน ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในจำนวนทดลอง 250-500 คน และ ระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกันโรค ในจำนวนทดลองมากกว่า 1,000 คน ขณะนี้มีความคืบหน้าของ 2 วัคซีน ได้แก่ 1.วัคซีน DNA โดย จุฬาฯ, ไบโอเนท เอเชีย และ สวทช. ได้เริ่มทำการทดลองในสัตว์ทดลองคือ หนู และ 2.วัคซีน mRNA โดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ สวทช. ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ทันสมัยและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ได้ผ่านการทดสอบในหนู และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ได้เริ่มทำการทดสอบในลิงแล้ว

“นานาชาติได้เริ่มการทดสอบในคนแล้ว โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม มีการทดสอบวัคซีนในคน 10 ชนิด ใน 5 ประเทศ คือ จีน 5 ชนิด สหรัฐอเมริกา 2 ชนิด ประเทศอังกฤษ 1 ชนิด เยอรมนี 1 ชนิด และออสเตรเลีย 1 ชนิด ซึ่งทั้งหมดเป็นประเทศแนวหน้าที่เริ่มทดสอบในคน ขณะเดียวกัน มีการเริ่มทดสอบในสัตว์ทดลองอีก 114 ชนิด โดยรวมการทดลองการพัฒนาของประเทศไทยด้วย การทำงานของเราไปได้ช้ากว่าประเทศแนวหน้า แต่ก็ไม่ได้อยู่ในแถวหลัง ยังอยู่ที่ต้องวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนมีเงื่อนไขที่อาจจะทำให้ส่งผลได้ไม่ดีนัก ดังนั้นประเทศที่มีการพัฒนาไปก่อนแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาตามกันไป เพื่อปรับปรุงวัคซีนให้ดีขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นความหวังของนักวิทยาศาสตร์ทั้งโลก ดำเนินงานเพื่อให้ประเทศไทย มีวัคซีนในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนนักวิจัยทั้งในวัคซีนเชื้อตาย และวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น mRNA DNA VLP เป็นต้น พร้อมทั้งมีความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยสถาบันวัคซีนฯ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก และ International Vaccine Institute เชื่อมต่อเป็นพันธมิตรกัน โดยหวังว่าหากมีวัคซีนขนิดใดที่พัฒนาสำเร็จใช้ในการป้องกันโรคได้ ประเทศไทยจะขอร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง