คนมองวันหยุดไทยเหมาะสม หลายวันได้พักผ่อน แต่ยอมรับกระทบงาน-รายได้
วันนี้ (18เม.ย.64) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “วันหยุดของคนไทย” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,447 คน สำรวจวันที่ 6-15 เมษายน 2564 พบว่า ประชาชนเห็นว่าวันหยุดของไทยมีจำนวนเหมาะสม ร้อยละ 53.28 ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับวันขึ้นปีใหม่มากที่สุด ร้อยละ 81.30 กิจกรรมที่นิยมทำในวันหยุด คือ พักผ่อน ร้อยละ 73.39 รองลงมาคือ อยู่กับครอบครัว ร้อยละ 70.69
กิจกรรมที่เคยทำแล้วต้องเปลี่ยนไปเมื่อมีโควิด-19 คือ การเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 58.95 ข้อดีของการมีวันหยุดหลายวัน คือ ได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน ร้อยละ 79.78 ข้อเสียคือกระทบต่อการทำงานและรายได้ ร้อยละ 58.36 ภาพรวมประชาชนเห็นด้วยกับการประกาศวันหยุดพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 62.34
เป็นที่ยอมรับว่าโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รัฐจึงออกมาตรการเพิ่มวันหยุดเพื่อจูงใจให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น หวังเม็ดเงินนับหมื่นล้านบาทหมุนเวียนในระบบ
ทั้งนี้จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่าประชาชนมองว่าการมีวันหยุดนั้นถึงแม้จะทำให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มรายจ่าย ดังนั้นมาตรการเพิ่มวันหยุดจึงให้ประโยชน์กับประชาชนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น เรียกได้ว่า “ถูกใจแต่ยังไม่ทั่วถึง” นั่นเอง
จากผลสำรวจ “วันหยุดของคนไทย” ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าวันหยุดของไทยมีความเหมาะสมซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอินเดียที่มีวันหยุดมากที่สุดในโลกถึง 186 วัน ประเทศไทยซึ่งมีวันหยุดประมาณ 29 วัน ถือว่ามีวันหยุดไม่มากจนเกินไป ส่วนวันหยุดที่คนไทยให้ความสำคัญมากที่สุด คือวันขึ้นปีใหม่อาจเพราะเป็นวันแห่งการเริ่มต้น หรืออาจเป็นช่วงเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงของบางคน
ขณะที่กิจกรรมที่นิยมทำและข้อดีจากการมีวันหยุดหลายวัน คือ “การได้พักผ่อน” เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาคนไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด -19 ทำให้เกิดความเครียดและความกังวลด้านต่างๆ กิจกรรมการท่องเที่ยวที่เคยใช้เป็นการคลายเครียดไม่สามารถทำได้จึงทำให้การพักผ่อนเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่การมีวันหยุดหลายวันก็มีข้อเสียเพราะกระทบต่อการทำงานและรายได้ ถึงอย่างไรก็ตามในภาพรวม ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังเห็นด้วยกับการประกาศวันหยุดพิเศษเพราะทำให้ได้วางแผนสำหรับกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้นรวมทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้