ทอผ้าแบบ “ปกาเกอะญอ” ต่อยอดแบรนด์ชุมชนชูเอกลักษณ์ของชนเผ่า
ชาวกะเหรี่ยงกำลังทอผ้าซึ่งเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงย้อมสีผ้า โดยการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง
หรือ ปกาเกอะญอเป็นแบบวิถีดั้งเดิม หรือการทอแบบห้างหลัง มีลักษณะพิเศษคือการใช้เครื่องทอผ้าขนาดเล็กที่เรียกว่า กี่เอว โดยผู้ทอผ้าจะต้องนั่งลงกับพื้น เหยียดขาตรง และมีสายคาดเอวรั้งเอาไว้ ส่วนอีกด้านหนึ่งผูกที่โคนต้นไม้หรือเสาหลักที่แข็งแรง การทอผ้าด้วยกี่เอวจะใช้การขยับเคลื่อนตัวของผู้ทอเพื่อบังคับเส้นด้ายให้ตึงหรือหย่อนตามต้องการ
ซึ่งหัตถกรรมบ้านป่าเกี๊ยะน้อย ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ได้ใช้วิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิมนี้ พัฒนาต่อยอดเป็น แบรนด์ TAPOKI และ นำเอาผ้าทอในชุมชนแปรรูปเป็นสินค้าร่วมสมัยแยกเป็นแบรนด์ Karenchic ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า
หัตถกรรมบ้านป่าเกี๊ยะน้อย ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ เริ่มก่อตั้งปี 2556 โดยมีนางสาวจินตนา ขจรขจายกิตติ เป็นประธานกลุ่ม โดยนอกจากการทอผ้าแล้ว ยังมีความถนัดคือการ ทอ ปัก ถัก ย้อมสี และตัดเย็บด้วย ปัจจุบันมีสมาชิก 27 คน ประกอบด้วย เยาวชน สตรี และผู้สูงวัย สร้างแบรนด์ 2 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ TAPOKI เป็นแบบดั้งเดิม ทอมือ และแบรนด์ Karenchic แบรนด์ร่วมสมัยเป็นการนำเอาผ้าทอในชุมชนแปรรูปเป็นสินค้าร่วมสมัยแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า
โดยชุมชนแห่งนี้นอกจากการทอผ้า ยังมีการย้อมสีผ้าด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม และใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติคือ ดินโคลนเปลือกไม้ และขี้เถ้า มาย้อมผ้าก่อนนำไปถักทอเป็นลวดลายต่างๆ สินค้าในปัจจุบันได้แก่ ย่าม ผ้าถุง เสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าโพกหัว ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ พวงกุญแจ
ชุดเสื้อผ้าร่วมสมัย เป็นต้น
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์