รีเซต

สตาร์ตอัปในดูไบพัฒนา “ชุดช้อนส้อมปลูกได้” ที่ทำจากฟางข้าวสาลี

สตาร์ตอัปในดูไบพัฒนา “ชุดช้อนส้อมปลูกได้” ที่ทำจากฟางข้าวสาลี
TNN ช่อง16
30 เมษายน 2567 ( 12:47 )
32
สตาร์ตอัปในดูไบพัฒนา “ชุดช้อนส้อมปลูกได้” ที่ทำจากฟางข้าวสาลี

สตาร์ตอัปจากมหานครดูไบ ออกไอเดียที่จะทำให้สิ่งของในชีวิตประจำวันอย่างอุปกรณ์ช้อนและส้อม มีความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการนำเสนอช้อนส้อมรีไซเคิลที่ทำจากฟางข้าวสาลี ซึ่งสามารถนำไปปลูกให้เติบโตออกมาเป็นพืชสมุนไพร หรือพืชผักต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องทิ้งให้กลายเป็นขยะไร้ค่า


ภาพจาก BloomSpoon

 

สตาร์ตอัปเจ้าของไอเดียสุดรักษ์โลกนี้มีชื่อว่า บลูมสปูน (BloomSpoon) ซึ่งกล่าวว่าเป้าหมายของพวกเขาคือ การช่วยส่งเสริมความยั่งยืนผ่านสิ่งของใกล้ตัวง่าย ๆและเพื่อต่อสู้กับการใช้งานพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามลพิษ 


ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงสร้างชุดช้อนส้อมนี้ขึ้นมา เพื่อนำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยกล่าวว่าชุดช้อนส้อม สามารถนำไปใช้งานซ้ำได้ถึง 5 ปี และเมื่อไม่ใช้งานแล้ว ก็สามารถนำไปปลูกได้ 2 แบบด้วยกัน คือการปักตัวช้อนส้อมลงในดินโดยตรง หรือจะแกะเมล็ดพืชที่อยู่ตรงปลาย ไปเพาะในดินได้


บริษัทได้มีการนำนวัตกรรมนี้ ไปแนะนำให้กับบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในดูไบแล้ว โดยหนึ่งในบาร์เทนเดอร์ และผู้ที่ได้ฟังการนำเสนอนวัตกรรมนี้กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับผลงานนี้ เพราะในดูไบเองก็กำลังเจอกับปัญหาขยะพลาสติกที่ค่อนข้างมากเช่นกัน

ภาพจาก BloomSpoon

 

มีข้อมูลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอัจมาน (Ajman University) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ระบุว่า ในปี 2021 UAE ได้สร้างขยะมากกว่า 6.5 ล้านตันต่อปี และการศึกษายังกล่าวอีกว่า UAE ได้วางแผนการจัดการขยะแบบบูรณาการ ซึ่งจะผสมผสานกลยุทธ์ที่หลากหลายสำหรับทั้งการจัดการขยะ และการลดของเสีย โดยมีเป้าหมายในการรีไซเคิลขยะมูลฝอยในชุมชนร้อยละ 75 แทนที่จะทิ้งขยะในหลุมฝังกลบ


ดังนั้นผลงานชุดช้อนส้อมที่สามารถใช้ซ้ำ และนำไปปลูกเป็นพืชผักสมุนไพรต่าง ๆ ได้หลังจากไม่ใช้งานแล้ว ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่อาจจะช่วยให้ครัวเรือน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีส่วนช่วยลดขยะพลาสติก เพื่อทำให้เป้าหมายการรีไซเคิลขยะมูลฝอยของประเทศนี้ บรรลุตามเป้าที่ตั้งไว้ก็เป็นได้


ข้อมูลจาก reutersconnect

ข่าวที่เกี่ยวข้อง