รีเซต

10 เดือนที่ไม่รอ… “เพื่อไทย” ทำต่อให้เต็ม 10 (ไม่หัก)

10 เดือนที่ไม่รอ… “เพื่อไทย” ทำต่อให้เต็ม 10 (ไม่หัก)
TNN ช่อง16
4 พฤษภาคม 2567 ( 11:32 )
22
10 เดือนที่ไม่รอ… “เพื่อไทย” ทำต่อให้เต็ม 10 (ไม่หัก)

ส่งท้ายปลายสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2567 พรรคเพื่อไทย จัดงาน "10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10" เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และความคืบหน้านโยบายต่างๆ ของพรรค หลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว เข้าสู่เดือนที่ 9 ของการบริหารราชการแผ่นดิน  โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมแกนนำ และ รัฐมนตรี (ครม.) ของพรรคเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง และ น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ  แต่ก็ไม่วายถูกจับตาความเคลื่อนไหวของบรรดารัฐมนตรีที่ถูกปรับออก อย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู และนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ซึ่งไม่ปรากฎตัวเข้าร่วมงานใหญ่ในครั้งนี้





หลักใหญ่ใจความที่ “แพทองธาร ชินวัตร” ประเดิมพูดในหัวข้อ "เติมเพื่อไทยให้เต็ม 10 สนับสนุนรัฐบาลเปลี่ยนประเทศ" เป็นการยืนยันว่า “เพื่อไทย” ตัดสินใจถูกต้องที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมเมื่อ 10 เดือนก่อน เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะ “เพื่อไทย”  เป็นพรรคการเมืองที่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมากที่สุด หากไม่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลผสม คงยากที่จะแก้ไขปัญหาได้ แต่ที่พรรคเพื่อไทยมองว่า เป็นปัญหาคือ กฎหมายที่พยายามทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ เป็นอิสระจากรัฐบาลเพราะหาก “นโยบายการเงิน” ที่กำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือกับ “นโยบายการคลัง” ที่กำกับดูแลโดยรัฐบาล ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้ พร้อมประกาศนำประเทศชาติก้าวเดินต่อในทุกมิติหลังเสียเวลาและเสียโอกาสมานานเกือบ 2 ทศวรรษจากการรัฐประหาร ซึ่งพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า สามารถทำได้ และจะทำให้ได้คะแนนเต็ม 10 ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า ตอกย้ำด้วยการให้คำมั่นว่า เพื่อไทยจะเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีศักยภาพ มีนโยบายที่ดี มีรัฐมนตรีที่เก่ง สามารถ ผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต แม้จะถูกคู่แข่งด้อยค่า ด้วยวาทกรรมต่างๆ พรรคเพื่อไทยจะทำทุกอย่างตามนโยบายที่บอกไว้กับประชาชน จึงมั่นใจว่าสุดท้ายเมื่อรัฐบาลได้อยู่ครบ 4 ปี ประชาชน จะให้คะแนนเราเต็ม 10 อย่างแน่นอน ส่วนการปรับ ครม. เศรษฐา 1/1 กับ 1/2 ก็มีเสียงจากนักวิชาการหลายคนที่น่าเชื่อถือ “ถูกฝาถูกตัว” มากที่สุด แม้จะรู้ดีว่า การทำงานให้บ้านเมืองเป็นงานที่ “Thank Less and End Less” ต้องทุ่มเทไม่มีวันสิ้นสุด แต่ก็เต็มใจที่จะทำ เพราะเป็นพรรคการเมืองแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญของประเทศ



ปิดท้ายเวทีนี้ กับ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ได้ชูผลงานรัฐบาล ในหัวข้อ  "4 ปีรัฐบาลเปลี่ยนประเทศ เติมประเทศไทยให้เต็ม 10" โดยบอกว่า ช่วงหนึ่งปีที่ก้าวเข้ามาในบ้านหลังนี้ ตั้งแต่การลงพื้นที่หาเสียง การตั้งรัฐบาลมีอะไรหลายอย่างที่อาจขัดสายตา มีวาทกรรมต่างๆ แต่หน้าที่ คือการฟอร์มรัฐบาลที่มีความมั่นคง ทำงานร่วมกันเพื่อดูแลทุกคนอย่างทั่วถึง 10 เดือนที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ การที่ไม่เสียเวลาไป 10 เดือนได้อะไรมาบ้าง ส่วนระยะเวลาที่เหลือ 3 ปีกว่า รัฐบาลเตรียมนโยบายไว้หลายอย่างเพื่อไปถึงเป้าหมาย แต่การจะเดินไปถึงเป้าหมายได้ ต้องผ่านอะไรอีกหลายอย่าง  เชื่อว่าหากทุกคนมุ่งมั่น มีความสามัคคี ถนนที่เดินไปข้างหน้าจะสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น  และมั่นใจว่า ทุกคนจะเห็นถึงความตั้งใจจริงและจุดประสงค์ที่มาร่วมอยู่ตรงนี้ ไม่ได้มาเพื่อตำแหน่งนายกฯ แต่ต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่คนไทยทุกคน ให้อยู่ดีกินดี 



แน่นอนว่างาน “10  เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” จัดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่มีการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 กับ 1/2  แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามยืนยันเป็นการปรับที่ถูกฝาถูกตัว แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการปรับเพื่อ “บริหารอำนาจ” และเมื่อเอกซเรย์โฉมหน้า ครม.ใหม่ ที่มีทั้ง “เก่าไป ใหม่มา และโยกสลับตำแหน่ง” ก็ถูกตั้งคำถามว่า สร้างความหวังให้ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะคำถามที่ว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ มีหลายปมที่อาจกลายเป็นชนวนกระตุ้นให้อุณหภูมิการเมืองร้อนระอุไปมากกว่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะการลาออกจากตำแหน่ง เจ้ากระทรวงการต่างประเทศ ของ “นายปานปรีย์ พหิทธานุกร”  ทันทีหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ครม.เศรษฐา 1/1” ซึ่งว่ากันว่า ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมสั่นสะเทือนภาพลักษณ์ของ "รัฐบาลเศรษฐา" ไม่น้อย เพราะนอกจากปมนี้แล้ว ยังมีเรื่องที่  "หมอชลน่าน" นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  ถูกปรับออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่เจ้าตัวยอม "เสียรังวัด" จากกรณีฉีกสัตยาบันจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล ว่ากันว่า ชะตากรรมของ "หมอชลน่าน" ทำให้คนในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ ส.ส.ที่เติบโตมาจาก ส.ส.เขต อาจสัมผัสได้ถึงสำนวน "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" เพราะ "หมอชลน่าน" ได้รับการยกย่องในฐานะคนทำงานให้กับพรรคเพื่อไทย แถมยังมีดีกรีเป็นถึง “อดีตหัวหน้าพรรค” ….







เมื่อเห็นโฉมหน้า “ครม.เศรษฐา” ที่เป็นบทสรุป ณ วันนี้ คอการเมือง อาจจะพอจำแนกแยกแยะได้ว่า “ใครเป็นสายตรง...ใครเป็นสายรอง”  ส่วนจะกลายเป็น "คลื่นใต้น้ำ"  ที่รอเวลาระเบิดหรือไม่...ต้องจับตากันต่อไป


เรียบเรียงโดย...ปุลญดา บัวคณิศร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง