ศธ.พร้อมเปิดเรียน 17 พ.ค.นี้ แบ่งดูแลนักเรียน 2 กลุ่ม เร่งสำรวจการรับวัคซีน
วันนี้ (27 เม.ย.65) ที่กระทรวงศึกษาธิการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลงานในรอบปี 2564 เช่น การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน ส่งเสริมในเรื่องของการมีอาชีพและการเรียนฟรีสำหรับผู้เรียนที่ขาดโอกาส
น.ส.ตรีนุช ระบุว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด ส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คือ ความปลอดภัยของผู้เรียน และมีการวางรูปแบบการเรียนการสอน
ส่วนแนวทางการศึกษา ปี 2565 กระทรวงศึกษาได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อให้สถานศึกษาเปิดเรียนอย่างปลอดภัยท่ามกลางโควิด-19 ขณะเดียวกันจะเร่งสำรวจข้อมูลและดำเนินการให้ครูบุคลากรและผู้เรียนทุกคนตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไปได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด
ข้อมูลขณะนี้ บุคลากรทางการศึกษาได้มีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วกว่าร้อยละ 81.48 ข้อมูลการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก 5-12 ปีจำนวนเป้าหมาย 5,263,106 คน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 1,589,153 คน ฉีดเข็มที่ 2 อยู่ที่ 100,668 คน ขณะที่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จำนวนเป้าหมาย 5,171,840 คน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 4,240,036 คน ฉีดเข็ม 2 อยู่ที่ 3,410,254 คน
สำหรับการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในเดือนพฤษภาคมนี้ น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า การดูแลนักเรียนนั้น ได้หารือเบื้องต้นอาจจะต้องแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ "กลุ่มที่มาโรงเรียนได้" สถานศึกษาจะต้องมีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวทางมาตรการสาธารณสุขที่มีการกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ เช่น การเว้นระยะห่างในการทำกิจกรรมต่างๆ
ส่วน "กลุ่มที่ไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้" ทางโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนแต่ละคนให้ เช่น การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่วนนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ครูจะมีแบบฝึกหัด ใบงาน เพื่อให้ไปเรียนรู้ที่บ้าน
ส่วนมาตรการอื่นๆ ยังคงมาตรการสาธารณสุขที่ได้แนะนำไว้ ก่อนหน้านี้ ซึ่งหลายโรงเรียนได้มีการจัดทำอยู่แล้ว เช่น การคัดกรองบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง หากพบว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ทุกสถานศึกษายังคงต้องมีแผนเผชิญเหตุ และการจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา คือ ให้มีการบันทึกประวัติการเดินทางในแต่ละวัน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มีการรวบรวมข้อมูลพบ มีเด็กที่ตกหล่นในระบบการศึกษา 120,000 คน ขณะนี้สามารถติดตามเด็กในกลุ่มนี้ กลับเข้าระบบการศึกษากลับมาเรียนได้แล้วอยู่ที่ 95,302 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 78.3 ส่วนในกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถติดตามกลับเข้ามาได้ก็ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลช่วยเหลือ
ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE , ทีมข่าว TNN ช่อง 16